มารู้จัก...ภาวะออทิสติก

 “มารู้จัก...ภาวะออทิสติก”

อ.พญ.ศศิธร จันทรทิณ

ภาควิชากุมารเวชศาสตร์

Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

ในโอกาสครบรอบ 72 ปี ของภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ซึ่งมีการจัดงานนิทรรศการและกิจกรรมบริการประชาชนผ่านไปแล้วเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เพื่อให้สาระความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับเด็ก ในที่นี้จะพาเราไปรู้จักกับภาวะออทิสติกว่าเป็นอย่างไร และหากคุณพ่อคุณแม่เจอกับเหตุการณ์นี้ต้องทำอย่างไร มาหาคำตอบกัน

ภาวะออทิสติก หรือในปัจุบันเรียกว่า ออทิซึมสเปกตรัม เป็นความผิดปกติของสมองอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความบกพร่องในพัฒนาการด้านการพูดสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ร่วมกับการมีพฤติกรรมและความสนใจที่เป็นแบบแคบจำกัดหรือเป็นแบบแผนซ้ำ ๆ โดยอาจเริ่มแสดงอาการตั้งแต่วัยเด็กเล็กและเป็นต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่

เด็กที่มีภาวะออทิสติกมักจะมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ปกติในขวบปีแรก อาการมักเริ่มสังเกตได้ในขวบปีที่สองเมื่อเด็กยังไม่พูดเป็นคำที่มีความหมาย ไม่ตอบสนองเมื่อเรียกชื่อไม่ทำตามสั่ง ไม่ค่อยสบตา โดยเด็กอาจไม่พูดเลย พูดเป็นคำที่ไม่มีความหมาย หรือสื่อสารโดยดึงมือพ่อแม่ให้ทำสิ่งที่ต้องการ บางคนอาจเคยพูดเป็นคำแล้วหยุดพูดไปในช่วงอายุขวบครึ่งถึงสองขวบ เด็กบางคนพูด แต่พูดแบบผิดปกติ เช่น พูดทวนคำของคนอื่น ใช้คำศัพท์ไม่ถูก พูดซ้ำ ๆ  มีภาษาท่าทางและการแสดงสีหน้าที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ หรือไม่เข้าใจภาษาท่าทางของผู้อื่น นอกจากนี้ยังมีอาการของความบกพร่องในด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่เด็กเล็กอาจดูเหมือนไม่กลัวคนแปลกหน้าเหมือนเด็กทั่วไป ชอบเล่นคนเดียว ไม่แสดงอารมณ์สนุกหรือความสนใจร่วมกับผู้อื่น ไม่เล่นสมมติ  เด็กโตหน่อยอาจไม่สนใจที่จะเล่นกับเพื่อน ไม่มีความสัมพันธ์แบบเพื่อนสนิท หรืออาจไม่สนใจที่จะมีเพื่อนเลย ส่วนด้านพฤติกรรมซ้ำ ๆ หรือความสนใจที่แคบจำกัด เช่น เอาของเล่นมาเรียงต่อกันหรือหมุนเล่นไปมา เล่นซ้ำ ๆ ไปสถานที่เดิม ๆ หรือมีกิจวัตรประจำวันที่เป็นแบบแผนเปลี่ยนแปลงได้ยากด้วยค่ะ

ในการวินิจฉัยแพทย์จะอาศัยข้อมูลจากประวัติพัฒนาการ การตรวจร่างกายและการประเมินพฤติกรรมของเด็ก ไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือการทดสอบที่จำเพาะสำหรับภาวะออทิสติก แต่อาจมีการส่งตรวจการได้ยินเพื่อแยกจากการได้ยินบกพร่อง

ส่วนการรักษาต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างพ่อแม่ ทีมผู้รักษา และคุณครูที่โรงเรียน การรักษาที่ต้องทำไปพร้อม ๆ กัน คือ การกระตุ้นพัฒนาการ การฝึกทักษะ การแก้ไขพฤติกรรมที่เป็นปัญหา และการช่วยเหลือด้านการเรียน ส่วนการใช้ยาอาจมีความจำเป็นหากมีอาการขาดสมาธิ อยู่ไม่นิ่ง หงุดหงิด ก้าวร้าว หรือกระตุ้นตัวเองร่วมด้วย และเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และการใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก 

สิ่งสำคัญ เมื่อคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกมีพัฒนาการล่าช้า โดยเฉพาะในด้านภาษาและสังคม ควรต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็กเพื่อให้การวินิจฉัยโดยเร็วที่สุด และในระหว่างที่รอพบแพทย์ ควรกระตุ้นพัฒนาการลูก ด้วยการเล่นกับลูกมากขึ้น ฝึกการสบตา ฝึกให้เด็กพูดตาม ฝึกให้ชี้อวัยวะบนใบหน้า หรือให้ทำตามคำสั่งง่าย ๆ จะช่วยพัฒนาลูกในเบื้องต้นได้มาก

******************************

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด