ถุงน้ำหลายใบในรังไข่ (Polycystic Ovary Syndrome)

ถุงน้ำหลายใบในรังไข่ (Polycystic Ovary Syndrome)

 

..กิตยาภรณ์ ศิลป์ประสิทธิ์ พยาบาลวิชาชีพ

ที่ปรึกษา รศ.พญ.ธันยารัตน์ วงศ์วนานุรักษ์

คลินิกต่อมไร้ท่อทางนรีเวชและวัยทอง

ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ความหมาย

            กลุ่มอาการถุงน้ำหลายใบในรังไข่ เป็นกลุ่ม อาการที่พบได้ประมาณร้อยละ 5-10 ในสตรีวัยเจริญพันธุ์อาการแสดง ได้แก่ รอบระดูไม่สม่ำเสมอ โดยส่วนใหญ่จะมีรอบระดูห่างกว่า 35 วัน เช่น มีระดูทุก 2-6 เดือนหรือในช่วง 1 ปี มีระดูน้อยกว่า 8 ครั้ง มีอาการแสดงออกของฮอร์โมนเพศชายเกิน เช่น หน้ามัน สิวขึ้นง่ายขนดก รวมทั้งลักษณะของรังไข่จากการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง หรือ อัลตร้าซาวด์ จะเห็นถุงน้ำเล็กๆ หลายใบในรังไข่

สาเหตุ
            ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยทางเชื้อชาติ ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมหรือหลายๆ ปัจจัยร่วมกัน ข้อมูลในปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่า เกิดจากสาเหตุ ใดเป็นหลัก แต่กลไกผิดปกติหลัก คือ

            1. มีความผิดปกติที่ทำให้เกิดภาวะตกไข่ไม่สม่ำเสมอ เกิดระดูไม่สม่ำเสมอและนำมาสู่ภาวะมีบุตรยาก

            2. มีความผิดปกติของระดับหรือการทำงาน ของ ฮอร์โมนเพศชาย ทำให้มีอาการแสดงออก คือ หน้ามัน สิวขึ้นง่าย ขนดก เป็นต้น

            3. มีความผิดปกติของการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินซึ่งเกี่ยวข้องกับขบวนการเผาผลาญน้ำตาลกลูโคสในร่างกาย ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน

อาการแสดง

            1. อาการแสดงออกของการมีฮอร์โมนเพศชายมาก เช่น ภาวะมีขนดกแบบเพศชาย หน้ามัน สิวขึ้นง่าย ผมร่วง เป็นต้น

            2. ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง อาการที่พบคือ ระดูมาห่างคือ การมีรอบระดูน้อยกว่า 8 ครั้งต่อปี หรือมีช่วงระยะเวลาระหว่างรอบระดูนานกว่า 35 วัน หรืออาจมีระดูออกกะปริบกะปรอยหลังจากที่มีการขาดหายของระดูหลายรอบเดือน

            3. รังไข่ที่มีถุงน้ำเล็กๆ หลายใบ จากการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง หรือ อัลตร้าซาวด์ ในอุ้งเชิงกรานจะเห็นลักษณะรังไข่จะมีถุงน้ำเล็กๆ หลายใบเรียงตัวล้อมรอบผิวนอกของรังไข่           
           4. อาการแสดงความผิดปกติอื่นๆ เช่น ภาวะอ้วนโดยเฉพาะอ้วนลงพุง อาจพบรอยดำตามข้อพับ เช่นต้นคอ ซอกรักแร้ ใต้ราวนม ซึ่งบ่งบอกว่ามีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน

ความเสี่ยง

สตรีวัยเจริญพันธุ์ที่เป็นกลุ่มอาการนี้ ถ้าไม่ได้รับการรักษา
            - มีความเสี่ยงในการเกิดเยื่อบุมดลูกหนาตัวและมะเร็งเยื่อบุมดลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่มีการหลุดลอกของเยื่อบุมดลูกมาเป็นระดูเหมือนสตรีที่มีระดูมาสม่ำเสมอ ซึ่งมักจะแสดงอาการผิดปกติให้เห็นในช่วงอายุที่มากขึ้น หรือวัยหมดระดู ซึ่งมักมาด้วยระดูออกกะปริบกะปรอย หรือมามากกว่าปกติไม่สม่ำเสมอ

          - มีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน เนื่องจากกลุ่มอาการนี้มีความสัมพันธ์ในการเกิดโรคเบาหวานภาวะอ้วนโดยเฉพาะอ้วนลงพุง มีความเสี่ยงในการมีระดับไขมันสูงกว่าปกติ และโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งถ้าไม่ได้รับการตรวจรักษาอย่างต่อเนื่อง จะมีความเสี่ยงในการเกิดกลุ่มอาการโรคอ้วนลงพุง นำมาสู่ความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ และอัมพาต มากขึ้นในอนาคต

การรักษา
        
1. การรักษาให้มีรอบระดูที่สม่ำเสมอ โดยการให้รับประทานฮอร์โมนโปรเจสติน รับประทานเป็นรอบๆ ต่อเดือน หรือให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งจะได้รับประโยชน์ในการคุมกำเนิดร่วมด้วย และยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมบางกลุ่ม มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชายร่วมด้วย ทำให้ได้ประโยชน์ในการรักษาสิว หน้ามัน ขนดก ร่วมด้วย
          2. ตรวจหาความผิดปกติในการเกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และภาวะไขมันสูง
          3. ในสตรีที่ต้องการมีบุตร กลุ่มอาการนี้เป็นสาเหตุให้มีบุตรยาก เนื่องจากมีการตกไข่ที่ไม่สม่ำเสมอดังนั้นจึงต้องได้รับการดูแลรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางด้านภาวะมีบุตรยาก
นอกจากการใช้ยาแล้ว การปฏิบัติตัวก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ

          1. การควบคุมน้ำหนัก เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และควบคุมน้ำหนักตัว โดยลดน้ำหนักลงอย่างน้อยร้อยละ 5-10 ลดหรืองดอาหารที่มีไขมันสูง เน้นผักผลไม้เพื่อให้ได้กากใยอาหารเพิ่มขึ้น

          2. การออกกำลังกาย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของไขมันตามร่างกาย ทำให้ลดไขมันบริเวณช่องท้องและเพิ่มมวลกล้ามเนื้อและยังเพิ่มความไวต่ออินซูลิน โดยฉพาะที่กล้ามเนื้อ ทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานลดลง

          กลุ่มอาการถุงน้ำหลายใบในรังไข่ (PCOS) นี้ถือเป็นโรคเรื้อรังในสตรีวัยเจริญพันธุ์ไม่มีคำตอบว่าจะใช้เวลารักษานานเท่าใดจึงจะหายจากโรค มีอาการและอาการแสดงออกในแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีความเกี่ยวเนื่องกับความเสี่ยงในการเกิดโรคอื่นๆ ถ้าไม่ได้รับวินิจฉัยและการรักษาอย่างต่อเนื่อง

            ดังนั้นสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีระดูผิดปกติ ไม่มีระดูสม่ำเสมอทุกเดือน มีอาการแสดงออกของฮอร์โมนเพศชายเกิน มีภาวะอ้วนหรืออ้วนลงพุง มีปัญหามีบุตรยาก อาจต้องสงสัยว่าจะเป็นกลุ่มอาการนี้ควรมารับการตรวจรักษาเพื่อวินิจฉัยหาความผิดปกติและรับการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง หรือขาดการรักษาต่อเนื่อ

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด