โรคปลอกประสาทอักเสบของระบบประสาทส่วนกลางชนิดเอ็นเอ็มโอ (Neuromyelitis (Optica) ตอนที่ 2

รศ. พญ.จิราพร จิตประไพกุลศาล
ศ. เกียรติคุณ พญ.นาราพร ประยูรวิวัฒน์
ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล

แนวทางการรักษาโรคปลอกประสาทอักเสบชนิดเอ็นเอ็มโอ 
       การรักษาประกอบด้วย การรักษาจำเพาะและการรักษาอาการต่าง ๆ ของโรค ขอกล่าวถึงเฉพาะยาที่มีในประเทศไทย (พ.ศ. 2567)
1.    การรักษาจำเพาะ แบ่งเป็นสองระยะ ได้แก่ 

1)    ระยะกำเริบเฉียบพลัน การรักษาหลักในปัจจุบันคือ การฉีดยากลุ่มสเตียรอยด์ (ได้แก่ Methylprednisolone หรือ Solu-medrol®) ทางหลอดเลือดดำ 3-7 วัน ขึ้นกับอาการของผู้ป่วย เพื่อลดการอักเสบเฉียบพลัน จากนั้นจะได้รับยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทานในขนาดสูง เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ จากนั้นจะค่อยลดขนาดยาลงจนเหลือวันละ 10-20 มิลลิกรัมให้รับประทานต่อเนื่อง ผลข้างเคียงในระยะสั้นของยาสเตียรอยด์ขนาดสูง ได้แก่ ระดับน้ำตาลสูง โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวาน นอนไม่หลับ คลื่นไส้อาเจียน มึนศีรษะ ปวดศีรษะ ซึ่งพบไม่บ่อย ในผู้ป่วยบางรายที่อาการรุนแรงไม่ตอบสนองต่อการฉีดยาสเตียรอยด์หรือยังมีอาการผิดปกติหลงเหลือมาก แพทย์อาจพิจารณาการรักษาโดยการเปลี่ยนถ่ายพลาสมา 3-5 รอบ ตามความเหมาะสม 

2)    ระยะโรคสงบ เนื่องจากธรรมชาติของตัวโรคมักมีการกำเริบเป็นระยะ จึงจำเป็นต้องมียาเพื่อป้องกันการกำเริบ ในประเทศไทย (พ.ศ. 2567) มียา 2 รูปแบบ ได้แก่

       1)    ยากิน มี 2 ชนิด ได้แก่

1.    ยาเอซาไธโอพริน (Azathioprine หรือ Imuran® หรือ ) เป็นยากดภูมิคุ้มกันที่มีรายงานการศึกษาสนับสนุนว่าช่วยป้องกันโรคกำเริบได้ผล เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ผลข้างเคียงที่พบได้แก่ จำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ ซึ่งทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ภาวะตับอักเสบ (ค่าเอนไซม์ตับสูงผิดปกติ) ซึ่งแพทย์จะตรวจเลือดผู้ป่วยเป็นระยะเพื่อติดตามระดับเม็ดเลือดขาวและการทำงานของตับ ถ้ามีผลข้างเคียงแพทย์จะปรับลดขนาดยาหรือหยุดยา ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ ผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้แก่ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ผมร่วง ผลข้างเคียงระยะยาวคือ มีความเสี่ยงในการเกิดโรคเนื้องอกบางชนิด เช่น เนื้องอกผิวหนัง รังไข่และปอด ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อกินยามานานเกิน 10 ปี หรือปริมาณยาสะสมเกิน 600 กรัม (คำนวณเป็นยาขนาดเม็ดละ 50 มิลลิกรัม จำนวน 12,000 เม็ด)

2.    ยาเอ็มเอ็มเอฟ  (Mycophenolate mofetil หรือ Cellcept® หรือ Imucept®) เป็นยากดภูมิคุ้มกันเช่นเดียวกับยาเอซาไธโอพรีน ผลข้างเคียงที่พบ ได้แก่ จำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ ซึ่งทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ภาวะตับอักเสบ ซึ่งผลข้างเคียงพบน้อยกว่ายาเอซาไธโอพริน แพทย์ผู้ดูแลจะตรวจเลือดผู้ป่วยเป็นระยะเพื่อติดตามระดับเม็ดเลือดขาวและการทำงานของตับ ผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น คลื่นไส้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย

       2)    ยาฉีดทางหลอดเลือดดำมี 2 ชนิด ได้แก่

1.    ยาริทูซิแมบ (Rituximab หรือ Mabthera® หรือ Truxima®  หรือ Rixathon® หรือ Redditux®) เป็นยามุ่งเป้า (targeted therapy) ออกฤทธิ์ที่จำเพาะต่อเม็ดเลือดขาวบางชนิด (ลิมโฟไซต์ ชนิดเซลล์บี) เป็นยาที่แต่เดิมใช้สำหรับรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แต่ปัจจุบันมีข้อมูลสนับสนุนว่าสามารถลดการกำเริบของโรคเอ็นเอ็มโอและเอ็มเอสได้ดี โดยทั่วไปจะฉีดยาทุก 6 เดือน แต่อาจเว้นระยะนานกว่า 6 เดือนได้ขึ้นกับระดับเม็ดเลือดขาว (ลิมโฟไซต์ ชนิดบีเซลล์ หรือ CD19) ผลข้างเคียง ได้แก่ เกิดปฏิกิริยาขณะหยดยา มีไข้ หนาวสั่น ผื่นขึ้น ความดันเลือดต่ำ หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ซึ่งอาการจะเกิดน้อยลงในการรับยาครั้งต่อ ๆ ไป ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อบางกลุ่มง่ายขึ้น เช่นเป็นงูสวัด ขณะนี้ยาริทูซิแมบอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติในกรณีที่โรคไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยากดภูมิและสเตียรอยด์ หรือมีข้อห้ามใช้ แพทย์จะพิจารณาตามข้อบ่งชี้

2.    ยาไมโตแซนโทรน (Mitoxantrone) เดิมเป็นยาฉีดที่ใช้สำหรับรักษาโรคมะเร็ง แต่มีข้อมูลว่าสามารถลดการกำเริบของโรคเอ็นเอ็มโอได้เช่นกัน มีข้อควรระวังในระยะยาวคือ มีผลต่อการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งส่วนมากจะสัมพันธ์กับปริมาณสะสมของยา ปัจจุบันจึงไม่ค่อยใช้ยาชนิดนี้เนื่องจากผลข้างเคียงดังกล่าว ยาไมโตแซนโทรนเป็นยาเฉพาะ การพิจารณาการใช้ยานี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น 

       ปัจจุบันในต่างประเทศมีการรับรองยาฉีดอีกหลายตัว (ได้แก่ eculizumab, satralizumab และ inebilizumab) ให้ใช้สำหรับโรคเอ็นเอ็มโอโดยเฉพาะ แต่ยาทั้งสามชนิดนี้ ยังไม่มีใช้ในประเทศไทย


2.    การรักษาอาการต่าง ๆ ของโรค ได้แก่ 

1)    อาการเกร็งของแขนขา มี 2 ลักษณะคือ 

ลักษณะอาการเกร็งระยะสั้น (tonic spasm) ระยะเวลาเป็นวินาทีถึงนาที เกิดเป็นพัก ๆ มักจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อร่วมด้วย โดยบางรายอาการกล้ามเนื้อปวดเกร็งเป็นรุนแรงได้ มักตอบสนองต่อยากลุ่มยากันชักบางชนิด ได้แก่ ยาคาร์บามาเซพีน (Carbamazepine) สามารถลดอาการเกร็งได้ดี แต่มีข้อควรระวัง คือ การเกิดอาการแพ้ยา ผู้ป่วยอาจมีผื่น ตุ่มคันตามผิวหนังหรือเยื่อบุของร่างกายซึ่งมีความรุนแรงตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงเป็นรุนแรงได้ เพื่อการป้องกันการแพ้ยา แพทย์จะส่งตรวจเลือด (HLA B*1502) เพื่อดูความเสี่ยงต่อการแพ้ยาก่อนเริ่มให้ยา ยาคาร์บามาเซพีนสามารถเกิดปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นได้ง่าย ควรตรวจสอบปฏิกิริยาระหว่างยาชนิดต่าง ๆ โดยศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และใช้ยาด้วยความระมัดระวัง  ถ้าไม่สามารถให้ยานี้ได้ มียาอื่นที่มีประสิทธิภาพรองลงมา ได้แก่ ยาโคลนาซิแพม (Clonazepam) กาบาเพนทิน (Gabapentin) ออกซ์คาร์บาเซพีน (Oxcarbazepine) พรีกาบาลิน (Pregabalin) เป็นต้น


ลักษณะอาการเกร็งต่อเนื่อง (spasticity) ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อตึงเกร็งตลอดเวลา รักษาโดยการทำกายภาพบำบัด ฉีดยาลดเกร็ง (โบทูลินั่ม ทอกซิน) หรือรับประทานยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น แบคโคลเฟน (Baclofen) ไทซานิดีน (Tizanidine) โคลนาซิแพม (Clonazepam) มีผลข้างเคียง ได้แก่ ง่วงนอน ซึม คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก เป็นต้น 

ยาทุกชนิดข้างต้นเป็นยาที่มีประสิทธิภาพแต่ก็มีผลข้างเคียง จึงต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด

2)    อาการปวดประสาท (neuropathic pain) เนื่องมาจากรอยโรคที่ระบบประสาทส่วนกลาง ใช้ยาลดอาการปวดประสาท ได้แก่ คาร์บามาเซพีน (Carbamazepine) กาบาเพนทิน (Gabapentin) พรีกาบาลิน (Pregabalin) ออกซ์คาร์บาเซพีน (Oxcarbazepine)   

3)    อาการเดินเซ เวียนศีรษะ รักษาโดยการทำกายภาพบำบัด ยารับประทานยาบรรเทาอาการเวียนศีรษะ เช่น  เบต้าฮีสตีน (Betahistine) 

       ในอนาคตอาจมียาที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในประเทศไทยได้เพิ่มเติม สามารถปรึกษากับแพทย์ผู้ดูแล

       การรักษาอื่น ๆ ขึ้นกับอาการของผู้ป่วย การรักษาโดยการไม่ใช้ยา ได้แก่ การทำกายภาพบำบัด การออกกำลังกายตามสภาวะของผู้ป่วยแต่ละราย การฝังเข็ม การนวด การนั่งสมาธิ เป็นต้น  

       สิ่งสำคัญที่ต้องมีควบคู่ไปกับการรักษา คือ การดูแลประคับประคองด้านจิตใจให้กับผู้ป่วย รวมถึงผู้ดูแลด้วย เนื่องจากผู้ป่วยบางรายแม้ได้รับการรักษาแล้วยังหลงเหลือความทุพพลภาพอยู่มาก ส่งผลต่อการดำรงชีวิต มีความทุกข์ทั้งทางกายและทางใจเกิดขึ้น การเยียวยาด้านจิตใจจะช่วยบรรเทาความทุกข์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดสุขภาวะที่ดีขึ้นได้ท่ามกลางความเจ็บป่วยที่เป็น 

อาหารกับโรคปลอกประสาทอักเสบชนิดเอ็นเอ็มโอ
    กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยากดภูมิคุ้มกัน แนะนำให้กินอาหารสุกและสะอาด ผลไม้ควรปลอกเปลือก ไม่มีอาหารที่แสลงในผู้ป่วยโรคนี้

การปฏิบัติตัวอื่นๆ 
       การรักษาสุขอนามัย ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ที่มีอาการป่วย เช่น ผู้ที่มีไข้หวัด ไอ จามหรือผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อ

       ถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ หรืออาการผิดปกติอื่น ๆ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์

       สามารถอ่านเรื่องการปฏิบัติตัวเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง “เมื่อฉันป่วยเป็นโรคปลอกประสาทอักเสบชนิดเอ็นเอ็มโอ ควรปฏิบัติตัวอย่างไร”

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด