ผู้ป่วยที่สูญเสียการรับกลิ่น (ไม่ได้กลิ่น หรือ Anosmia) หรือได้กลิ่นน้อยลง (Hyposmia)…โปรดฟังทางนี้

ผู้ป่วยที่สูญเสียการรับกลิ่น (ไม่ได้กลิ่น หรือ Anosmia) หรือได้กลิ่นน้อยลง (Hyposmia)…โปรดฟังทางนี้

รศ. นพ. ปารยะ   อาศนะเสน
สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            1. ควรมาปรึกษาที่คลินิกการรับกลิ่นและรส (โทรนัดหมายได้ที่ 02-419-7409 ในเวลาราชการ)  เพื่อหาสาเหตุ และรักษาตามสาเหตุ

            2. เมื่อจมูกไม่ได้กลิ่น ( anosmia) หรือได้กลิ่นน้อยลง (hyposmia) จะขาดสัญญาณเตือนภัยอันตราย (warning signals) เช่น ควันไฟ, แก๊สรั่ว, อาหารบูดและเน่าเสีย  ผู้ป่วยอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้   ถ้าที่พักอาศัย เกิดไฟไหม้ หรือแก๊สรั่ว หรือผู้ป่วยอาจเกิดอาการของอาหารเป็นพิษ (food poisoning) เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียได้ เมื่อกินอาหารที่บูดและเน่าเสียเข้าไป  นอกจากนั้นยังทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในการได้กลิ่นหอม  หรือกลิ่นอาหาร ซึ่งทำให้เกิดความเพลิดเพลิน เจริญใจ หรือการเจริญอาหารเสียไป  หรือบางคนอาจวิตกกังวลว่า มีโรคร้ายแรงในสมอง หรือโพรงจมูกซ่อนอยู่  ดังนั้นควรมีญาติพักอาศัยอยู่กับผู้ป่วยด้วย เพื่อจะได้สังเกตว่า มีภัยอันตรายเกิดขึ้นหรือไม่ (ควันไฟ, แก๊สรั่ว หรืออาหารที่เก็บไว้บูด เน่าเสียหรือไม่) แต่ ถ้าผู้ป่วยต้องอยู่คนเดียว ควรปฏิบัติดังนี้
                        - ติดตั้งเครื่องตรวจจับควัน (
smoke detector) ที่เพดานห้อง (ทุกห้อง ถ้าเป็นไปได้ อย่างน้อย ควรติดห้องที่ผู้ป่วยนอน) และควรจดวัน และเวลาในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ของเครื่องตรวจจับควันดังกล่าวไว้ด้วย จะได้ทราบวันที่จะต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ก้อนใหม่
                        - ถ้าติดตั้งเครื่องฉีดน้ำที่เพดาน (
fire sprinkler) ที่เพดานห้อง ได้ด้วย จะยิ่งดี   ในกรณีไฟไหม้ เครื่องมือจะได้ฉีดน้ำดับไฟอัตโนมัติ (ถ้าติดได้ทุกห้อง ยิ่งดี  อย่างน้อย ควรติดห้องที่ผู้ป่วยนอน)
                        - เวลาเก็บอาหารเข้าตู้เย็น ควรมีฉลาก หรือกระดาษติดภาชนะที่เก็บอาหารไว้ด้วย และเขียนวันและเวลาที่นำอาหารเก็บเข้าตู้เย็น
จะได้ทราบว่าเก็บไว้นานเพียงใด และสมควรจะกินหรือไม่  ถ้าไม่แน่ใจ  ไม่ควรกิน เพราะอาจเกิดอาการของอาหารเป็นพิษได้
            3. สาเหตุของจมูกไม่ได้กลิ่น หรือได้กลิ่นน้อยลง ส่วนใหญ่เกิดจาก อุบัติเหตุที่ศีรษะ
, การติดเชื้อไวรัสจากการเป็นหวัด และโรคของโพรงจมูกและไซนัส (เช่นจมูกอักเสบชนิดภูมิแพ้ และไม่แพ้, ไซนัสอักเสบ, ริดสีดวงจมูก และเนื้องอก)  ในกรณีที่สาเหตุของการสูญเสียการรับกลิ่น เกิดจากเชื้อไวรัส หรืออุบัติเหตุที่ศีรษะ หรือสาเหตุใดๆก็ตาม  การฝึกดมกลิ่นที่ผู้ป่วยคุ้นเคยบ่อยๆ (olfactory training) (แม้ผู้ป่วยจะไม่ได้กลิ่น หรือไม่ได้กลิ่นเพิ่มขึ้นก็ตาม) อาจช่วยให้เส้นประสาทการรับกลิ่นที่เสียไป กลับมาทำงานได้  [มีการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่มีการสูญเสียการรับกลิ่นจากสาเหตุดังกล่าว  ถ้าพยาธิสภาพของโรครุนแรงไม่มาก ผู้ป่วยที่ฝึกดมกลิ่นที่ผู้ป่วยคุ้นเคยบ่อยๆ จะมีโอกาสที่จะกลับมาได้กลิ่น (กรณีพยาธิสภาพนั้น ทำให้จมูกไม่ได้กลิ่น) หรือมีโอกาสที่จะได้กลิ่นมากขึ้น (กรณีพยาธิสภาพนั้น ทำให้จมูกได้กลิ่นน้อยลง) มากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้ฝึกดมกลิ่นที่ผู้ป่วยคุ้นเคยบ่อยๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ]
            4. กรณีที่จมูกไม่ได้กลิ่น หรือได้กลิ่นน้อยลง เกิดจากอุบัติเหตุ หรือการติดเชื้อไวรัสนั้น  คำถามที่ผู้ป่วยและญาติมักจะถามคือ จะหายหรือไม่ ใช้เวลานานเท่าใดจึงจะหาย  คำตอบขึ้นอยู่กับความรุนแรงของพยาธิสภาพที่เส้นประสาทรับกลิ่น
(degree or severity of injury)
                        - ถ้ามีความรุนแรงของพยาธิสภาพที่เส้นประสาทรับกลิ่นมาก เช่น เส้นประสาทรับกลิ่นขาดออกจากกัน หรือมีการเสียส่วนของเส้นประสาทรับกลิ่นมาก  ผู้ป่วยมักจะไม่ได้กลิ่นเลย (
anosmia) หรือได้กลิ่นบ้าง แต่น้อยมาก (severe hyposmia) หลังเกิดพยาธิสภาพ  โอกาสที่การรับกลิ่นจะกลับมา ค่อนข้างน้อย หรืออาจไม่มีโอกาสที่จะได้กลิ่น หรือได้กลิ่นดีขึ้นอีกเลย
                        - ถ้ามีความรุนแรงของพยาธิสภาพที่เส้นประสาทรับกลิ่นน้อย เช่น เส้นประสาทรับกลิ่นไม่ได้ขาดออกจากกัน เพียงแค่บวม ทำให้เส้นประสาทรับกลิ่นทำงานไม่ได้เลย (ไม่ได้กลิ่น) หรือทำงานได้น้อย (ได้กลิ่นบ้างแต่น้อย) หรือมีการเสียส่วนของเส้นประสาทรับกลิ่นน้อย ผู้ป่วยก็จะมีโอกาสที่การรับกลิ่นจะกลับมาค่อนข้างมาก

            จากการศึกษาพบว่า หลังเกิดพยาธิสภาพที่เส้นประสาทรับกลิ่น ไม่ว่าจากอุบัติเหตุ หรือเชื้อไวรัส ถ้าผู้ป่วยไม่ได้กลิ่น หรือได้กลิ่นน้อย โอกาสที่จะกลับมาได้กลิ่น หรือได้กลิ่นมากขึ้นนั้น มักจะอยู่ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนแรก หลังมีพยาธิสภาพ (กลุ่มนี้มีพยากรณ์โรคดี) แต่ถ้า 6 เดือน หลังมีพยาธิสภาพ ปัญหาการรับกลิ่นไม่ดีขึ้นเลย โอกาสที่จะกลับมาได้กลิ่น หรือได้กลิ่นมากขึ้น มักจะอยู่ในช่วง 6 เดือน - 1 ปี 6 เดือน หลังมีพยาธิสภาพ  ซึ่งเป็นช่วงที่สอง แต่ถ้าหลังจาก 1 ปี 6 เดือน ไปแล้ว ปัญหาการรับกลิ่นยังไม่ดีขึ้นเลย ผู้ป่วยจะมีโอกาสน้อยลงที่จะได้รับกลิ่น (กรณีไม่ได้กลิ่น) หรือมีโอกาสได้รับกลิ่นมากขึ้น (กรณีได้กลิ่นน้อย) แต่ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีโอกาสกลับมาดีขึ้นอีกแล้ว (เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่มีใครทราบแน่นอน พยาธิสภาพของการสูญเสียการรับกลิ่นอาจจะเท่าเดิม, ดีขึ้น หรือแย่ลงก็เป็นไปได้)  ถ้าการสูญเสียการรับกลิ่นนั้นไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรทำใจยอมรับ เรียนรู้ที่จะอยู่กับการสูญเสียการรับกลิ่นนั้นให้ได้ (เมื่อใจยอมรับได้ ความทุกข์ก็จะน้อยลง แต่ถ้าใจยอมรับไม่ได้ ความทุกข์ก็จะมากขึ้น)
            5. ในกรณีผู้ป่วยมีความสามารถในการรับกลิ่นน้อยลง (
hyposmia) แต่ไม่ดีขึ้น อย่างน้อย ควรทราบว่า อะไรคือเหตุที่อาจทำให้ความสามารถในการรับกลิ่นนั้นแย่ลง และควรหลีกเลี่ยงเหตุนั้น ซึ่งได้แก่
                        - อุบัติเหตุที่มากระทบศีรษะ ซึ่งอาจทำให้มีการบาดเจ็บของเส้นประสาทรับกลิ่นมากยิ่งขึ้น
                        - การติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะหวัด หรือจมูกอักเสบ (การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน) โดยพยายามหลีกเลี่ยงเหตุที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายแย่ลง (ได้แก่ เครียด   นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ โดนหรือสัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ เช่น ขณะนอนเปิดแอร์ หรือพัดลมเป่าจ่อ   ไม่ได้ใส่เสื้อผ้า หรือไม่ได้ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเพียงพอ   การดื่มหรืออาบน้ำเย็น ตากฝน หรือสัมผัสกับอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น จากร้อนเป็นเย็น เย็นเป็นร้อน หรือมีคนรอบข้างที่ไม่สบายคอยแพร่เชื้อให้เราทั้งที่บ้านและที่ทำงาน) และควรออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอ คือการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้นต่อเนื่องกัน เช่น วิ่ง
, เดินเร็ว, ขึ้นลงบันได, ว่ายน้ำ, ขี่จักรยานแบบปรับน้ำหนักความฝืดได้, เตะฟุตบอล, เล่นเทนนิส, แบดมินตัน หรือบาสเกตบอล อย่างน้อยวันละ 30 นาที  อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสได้ดี เนื่องจากเชื้อไวรัส อาจทำให้มีการบาดเจ็บของเส้นประสาทรับกลิ่นมากยิ่งขึ้น
                        - การสัมผัสกับยา, สารเคมี, สารพิษ กลิ่นฉุน ที่อาจสูดเข้าไปในโพรงจมูก หรือรับประทานเข้าไป แล้วทำให้มีการบาดเจ็บของเส้นประสาทรับกลิ่นมากยิ่งขึ้น
                        - ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการสูญเสียการรับกลิ่นจากโรคจมูกอักเสบชนิดภูมิแพ้ และไม่แพ้, ไซนัสอักเสบ, ริดสีดวงจมูก ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงเหตุที่อาจกระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบในโพรงจมูกและ/หรือไซนัสนั้นเพิ่มมากขึ้น จนทำให้เยื่อบุจมูกบวมมาก
            - แล้วทำให้อากาศไม่สามารถเข้าไปในโพรงจมูก และไปสู่เซลล์ประสาทรับกลิ่นที่อยู่บนเพดานของโพรงจมูก หรือฐานของกะโหลกศีรษะ  ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้กลิ่น หรือได้กลิ่นน้อยลง
(conductive olfactory loss)
            - แล้วบวมออกมาเป็นก้อนริดสีดวงจมูก หรือบวมมากจนไปอุดรูเปิดของไซนัสในโพรงจมูก ทำให้เกิดไซนัสอักเสบ ซึ่งทั้งริดสีดวงจมูกและไซนัสอักเสบ อาจทำให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทรับกลิ่น ทำให้ไม่ได้กลิ่น หรือได้กลิ่นน้อยลง
(sensory olfactory loss) และอาจทำให้เยื่อบุจมูกบวม จนอากาศไม่สามารถเข้าไปในโพรงจมูก และไปสู่เซลล์ประสาทรับกลิ่นที่อยู่บนเพดานของโพรงจมูกได้ (conductive olfactory loss)

อย่านิ่งนอนใจนะครับ......เมื่อจมูกไม่ได้กลิ่น หรือได้กลิ่นน้อยลง......ปรึกษาแพทย์ดีกว่าครับ


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด