ปวดท้องประจำเดือน เรื่องไม่ธรรมดาสำหรับผู้หญิง
ปวดท้องประจำเดือน เรื่องไม่ธรรมดาสำหรับผู้หญิง
รศ.พญ.ธันยารัตน์ วงศ์วนานุรักษ์
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
การปวดท้องประจำเดือน หรือปวดระดู นับเป็นเรื่องที่ทรมานไม่น้อยสำหรับสุภาพสตรี สาเหตุเกิดจากอะไร ส่งผลต่อสุขภาพหรือไม่ และถ้าเกิดแล้วจะมีแนวทางการรักษาอย่างไรนั้น มาไขข้อข้องใจกัน
การปวดท้องประจำเดือน หรือปวดระดู แบ่งสาเหตุการเกิดได้เป็นหลายสาเหตุ เหตุแรกคือ ภาวะการปวดท้องประจำเดือนแบบปฐมภูมิ เป็นภาวะปวดท้องประจำเดือนที่เราทำการตรวจเบื้องต้นแล้วไม่พบรอยโรคผิดปกติในอุ้งเชิงกราน กลุ่มนี้มักเกิดในสตรีอายุน้อย ๆ ซึ่งจะมีความรุนแรงแตกต่างกันไป อีกสาเหตุคือ ภาวะการปวดท้องประจำเดือนที่เกิดจากโรคที่เราพบบ่อย ๆ ทางโรคเฉพาะสตรี มักเกิดในผู้หญิงที่อายุประมาณ 30 ปีขึ้นไป ได้แก่ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งคือภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญอยู่นอกโพรงมดลูก ไปเจริญอยู่ที่ชั้นกล้ามเนื้อมดลูกก็ทำให้เกิดเนื้องอกมดลูกประเภทหนึ่งไปเจริญอยู่ที่รังไข่ ทำให้เกิดลักษณะมีเลือดเก่าๆ อยู่ในรังไข่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายช็อกโกแลต เราก็รู้จักกันดีในโรคช็อกโกแลตซีสต์ ภาวะโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ก็จะทำให้ผู้ป่วยปวดท้องประจำเดือนมาก และมากขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อเวลาผ่านไปอาจนำไปสู่ภาวะปัญหาการมีบุตรยาก เนื่องจากเกิดพังผืดในอุ้งเชิงกราน
การรักษาภาวะปวดท้องประจำเดือนแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย ในกรณีที่ตรวจดูแล้วไม่พบรอยโรคผิดปกติ แพทย์จะให้การรักษาด้วยการรับประทานยาแก้ปวด ถ้าตรวจพบเนื้องอกหรือซีสต์ขนาดไม่ใหญ่มาก ก็จะพิจารณาให้ฮอร์โมนเพื่อเป็นการป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยให้การรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการดูแลตนเอง โดยเฉพาะสุภาพสตรี ควรได้รับการตรวจสุขภาพโรคเฉพาะสตรี (นรีเวชวิทยา) อย่างน้อยปีละครั้ง พร้อมทั้งคอยหมั่นสังเกตรอบประจำเดือนของตัวเองว่ามาสม่ำเสมอหรือไม่ และที่สำคัญคือ ภาวะการปวดประจำเดือน ถ้าการปวดประจำเดือนมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ควรจะปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไป