เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือ ช็อกโกแลตซีสต์
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือ ช็อกโกแลตซีสต์
รศ.นพ.อัมพัน เฉลิมโชคเจริญกิจ
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
การลอกหลุดของเยื่อบุโพรงมดลูกในแต่ละรอบเดือนทำให้เกิดเลือดประจำเดือนในสตรี ดังนั้นเมื่อเยื่อบุเหล่านี้ไปเจริญอยู่ผิดที่ในที่ต่าง ๆ และมีการลอกหลุดในแต่ละรอบเดือน ก็จะเกิดแผลและมีเลือดประจำเดือนขังอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ในที่ ๆ มีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญอยู่ เช่น เยื่อบุช่องท้อง ผนังมดลูกและรังไข่ จึงทำให้บริเวณนั้นๆ เป็นพังผืดมองเห็นเป็นจุดเลือดออก สีแดง สีดำ หรือหากมีปริมาณขังอยู่มากและนานก็จะมีเลือดเก่าๆ ลักษณะข้นคล้ายช็อกโกแลตสะสมอยู่บริเวณนั้น ที่เรียกกันว่า ช็อกโกแลตซีสต์ นั่นเอง
เยื่อบุโพรงมดลูกที่ไปเจริญอยู่ผิดที่เหล่านี้ เมื่อมีการลอกหลุดทุกรอบเดือน จะมีผลทำให้เกิดแผล มีการอักเสบและเกิดพังผืดขึ้นในอุ้งเชิงกราน ผู้ป่วยจึงมักมีอาการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรง บางรายปวดมากจนเป็นลม คลื่นไส้อาเจียน บางรายปวดมากจนต้องหยุดงาน และในกรณีที่รอยโรคอยู่ติดกับลำไส้ ก็มักทำให้มีอาการปวดหน่วงลงทวารหนักในช่วงที่มีเลือดประจำเดือน ส่วนอาการอื่น ๆ ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ปวดท้องน้อยเรื้อรัง เจ็บในอุ้งเชิงกรานขณะมีเพศสัมพันธ์ และภาวะมีบุตรยาก เลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน นอกจากนี้ อาจมีท้องอืด ท้องผูก ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ชึ่งอาการเหล่านี้มักรุนแรงขณะที่มีเลือดประจำเดือน
สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ พบว่าสตรีที่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกเร็วกว่าปกติ ประจำเดือนออกมาก ประจำเดือนมานานหลายวันและมาถี่ แต่งงานช้า จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่สูงกว่าสตรีทั่วไป
แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยโรคนี้ได้ จากการตรวจภายในหรือการตรวจทางทวารหนัก โดยอาจพบว่ามดลูกมีขนาดโตกว่าปกติ หรือมดลูกอาจเอียงหรือคว่ำหลังจากการที่มีพังผืดดึงรั้ง อาจคลำพบตุ่มแข็งกดเจ็บด้านหลังมดลูก หรือคลำพบก้อนหรือถุงน้ำบริเวณรังไข่ ซึ่งบางครั้งต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สำหรับกรณีที่ผลการตรวจร่างกายยังไม่ชัดเจน แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยเครื่องอัลตร้าซาวนด์ทางช่องคลอดหรือทางทวารหนัก หรือบางครั้งอาจจำเป็นต้องส่องกล้องตรวจภายในช่องท้อง
การรักษาในเบื้องต้น ได้แก่ การใช้ยาแก้ปวดกลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ส่วนการรักษาที่เฉพาะเจาะจง จะใช้ฮอร์โมน ซึ่งมีทั้งชนิดกินและชนิดฉีด เช่น ยาเม็ดและยาฉีดคุมกำเนิด ฮอร์โมนเหล่านี้จะออกฤทธิ์กดการทำงานของรังไข่ มีผลทำให้รอยโรคเกิดการฝ่อ จึงช่วยลดอาการปวดลงได้ แต่ข้อเสีย ผู้ป่วยจะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นหากผู้ป่วยต้องการมีบุตร จึงควรรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งวิธีที่นิยมและเป็นมาตรฐาน คือ การผ่าตัดทางนรีเวชผ่านกล้อง เนื่องจากแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว และที่สำคัญคือ มีโอกาสตัดเลาะพังผืดได้มากกว่า และยังเกิดพังผืดภายหลังการผ่าตัดน้อยกว่าวิธีการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่ยังต้องการมีบุตรในอนาคต