การเจาะหู

การเจาะหู

                                                                                                                         อ.นพ. สมศักดิ์ มาสมบูรณ์   
                                                                                   Faculty of Medicine Siriraj Hospital
                                                                                                              คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

               ใบหู มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย คือช่วยเพิ่มการรับฟังและทำให้สวยงาม จะเห็นว่าในคนที่ปกติดีๆ อยู่นี่แหละ  บางครั้งยังต้องใช้ฝ่ามือช่วยป้องใบหูเพื่อให้ได้ยินดีขึ้น ในคนที่ไม่มีใบหูหรือมี แต่พิกลพิการ จึงเดือดร้อนและมีปมด้อย ซึ่งจะมาปรึกษาศัลยแพทย์ตกแต่งเป็นประจำ ด้วยเหตุที่ไม่สามารถจะโชว์ใบหูได้ ในคนที่ชอบเอาผมปิดใบหูอยู่เป็นนิจในทุกโอกาส ให้ตั้งข้อสันนิฐานไว้ได้เลยว่า น่าจะมีความผิดปกติของใบหูข้างนั้น เพราะในคนทั่วๆไปโดยเฉพาะสุภาพสตรี นอกจากจะโชว์ใบหูแล้ว ยังจะนิยมโชว์ต่างหูอีกด้วย โดยเฉพาะปัจจุบันกำลังนิยมใส่ต่างหูมากกว่า 1 คู่ คือ ข้างละ 2 รูขึ้นไป จึงอยากจะพูดถึงการเจาะหูเพื่อใส่ต่างหูเสียหน่อย

      การเจาะหูมีมาแต่โบราณนานเท่าใดไม่ปรากฏ ชาติใดเป็นชาติแรกในการเจาะหูก็ไม่มีการบันทึกไว้เช่นกัน รู้แต่ว่านิยมเจาะกันแต่ในเพศหญิง คนโบราณจะเจาะหูบุตรสาวตั้งแต่แรกเกิด เพราะเด็กยังเล็กไม่รู้สึกเจ็บอะไร และนิยมใช้เข็มเย็บผ้ามาทำให้สะอาดด้วยการลนไปแล้วรอให้เย็น หรือเช็ดด้วย alcohol แล้วใช้ด้ายเย็บผ้า หรือ ก้านกระเทียม หรือ ก้านต่างหูจริงๆใส่ไว้เลย ถ้าไม่เจาะตั้งแต่เล็กๆ แรกเกิด ก็มักจะนิยมเจาะตอนโต คือตอนที่อยากจะใส่ต่างหู มาถึงระยะนี้ก็มักจะกลัวเจ็บ แต่ เพราะความอยากสวยก็ต้องยอมทนเจ็บ เห็นได้ว่าร้านขายต่างหูที่บริการเจาะหูด้วยมีอยู่มากมายทั่วไป เช่น ย่านพาหุรัด หรือ ตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ วิธีการเจาะก็มีตั้งแต่ใช้นิ้วมือคลึงๆ ติ่งหูให้ชา แล้วเจาะหรือมียาชาภายนอกทาแล้วคลึงก่อนเจาะ จนถึงใช้ปืนยิ่งใส่ก้านต่างหูเข้าไปตรงบริเวณที่ต้องการจะเจาะ เป็นต้น

ปัญหาแทรกซ้อนตามมาหลังการเจาะหู ที่พบบ่อย คือ การติดเชื้อ
สาเหตุก็คือ ไม่สะอาดพอระหว่างการเจาะ 
      1. อาจจะเป็นเพราะไม่ได้ใช้ยาฆ่าเชื้อทาบริเวณใบหู เช่น ใช้ alcohol เช็ดให้สะอาดก่อน 
      2. ต่างหูก็ต้องแช่ยาฆ่าเชื้อหรือผ่านการฆ่าเชื้อก่อน 
      3. มือคนที่ทำก็ต้องปราศจากเชื้อ ที่ดีที่สุดก็คือ สวมถุงมือที่นึ่งหรือฆ่าเชื้อแล้ว 
      สาเหตุอีกประการหนึ่งคือ ร่างกายไม่ยอมรับชนิดของต่างหูนั้น เพราะต่างหูก็เหมือนของแปลกปลอมที่ฝังอยู่ที่ติ่งหูนั้นเอง จะเห็นว่าบางคนใส่ก้านต่างหูบางชนิดแล้วแพ้ แต่ใส่ต่างหูอีกชนิดหนึ่งไม่แพ้ เป็นต้น บางคนใส่ชนิดอะไรก็ไม่ได้เลย อาจจะเกิดก้อนเนื้อนูนออกมาจากรอยเจาหูเสียด้วยซ้ำ ทำให้ได้ต่างหูธรรมชาติชนิดที่ไม่ต้องการก็มี พวกนี้ก็มักจะมาหาศัลยแพทย์ตกแต่งอยู่บ่อยๆ เช่นเดียวกับแผลนูนที่เกิดจากการฉีดวัคซีน บี.ซี.จี. 
   
ข้อเตือนใจสำหรับท่านที่ต้องการจะไปเจาะหู
      
ก่อนจะตัดสินใจเจาะหูที่ไหน ขอให้ศึกษาดูก่อนว่าเขาทำความสะอาดเพียงใด เสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจไปปรึกษาศัลยแพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆได้ ศัลยแพทย์จะระวังเรื่องความสะอาดเป็นอันดับแรก และสำหรับท่านที่หูเบาไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็น่าจะพิจารณาใส่ต่างหูหนักๆ สักคู่หนึ่งครับ.

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด