โรคที่ต้องระวัง ! เมื่อต้องขับรถ
โรคที่ต้องระวัง ! เมื่อต้องขับรถ
ผศ.พญ.สุภาพร โอภาสานนท์
ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
การขับขี่รถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หรือรถยนต์สาธารณะ ความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถยนต์ที่มีโรคประจำตัว
สำหรับกฎหมายในบ้านเรา ได้มีการกำหนดภาวะต้องห้ามในการขับขี่รถยนต์ 5 โรค คือ ต้องไม่เป็นโรคติดต่อที่น่ารังเกียจ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต ไม่ติดสุรา ยาเสพติด หรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เพราะไม่สามารถป้องกันอุบัติภัยในการขับขี่รถยนต์ได้
สำหรับโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการขับรถโดยตรงนั้น มักจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท เช่น โรคลมชัก โรคกล้ามเนื้อลีบ อ่อนแรง ทั้งมือ เท้า โรคอัลไซเมอร์ โรคของระบบการมองเห็น เช่น โรคตาบอดสี มองเห็นด้วยตาเพียงข้างเดียว โรคระบบการได้ยิน โรคหัวใจและโรคเรื้อรัง
ส่วนโรคหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่กรนเสียงดังๆ ขณะนอนหลับ และเป็นสาเหตุของการหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ ซึ่งดูเหมือนว่าจะนอนได้มาก แต่จริง ๆ แล้วนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ตื่นขึ้นมาก็ไม่สดชื่น พร้อมที่จะหลับในได้และเป็นอันตรายมาก หากเกิดขึ้นในขณะขับรถ
สำหรับกลุ่มโรคที่จำเป็นต้องควบคุมการขับขี่รถยนต์ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคเบาหวานขั้นรุนแรง และโรคลมชัก เพราะทั้ง 3 โรคนี้ เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ รองจากการเมาสุรา โดยดูจากข้อมูลผู้ป่วยที่ปัจจุบันมีอยู่ 1.2 ล้านคน ขึ้นไป ที่น่ากังวลคือ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ตลอดชีพ ทำให้เกิดความเสี่ยงเมื่ออาการกำเริบในขณะที่ขับรถ นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีพวกคุยโทรศัพท์ หรือแชทขณะขับรถ ก็น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย
ดังนั้นผู้ขับขี่รถยนต์ที่มีโรคประจำตัว ต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับการใช้รถใช้ถนนเพิ่มขึ้น เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง ครอบครัว และผู้ร่วมเดินทางคนอื่น ๆ