ภาวะสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงวรพรรณ  เสนาณรงค์
ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            ภาวะสมองเสื่อมเป็นที่เรื่องที่ทุกคนควรเพิ่มความระมัดระวัง เพราะในปัจจุบันคนไทยอายุยืนขึ้น ทำให้จำนวนผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมมีความชุกสูงขึ้นด้วย อาการหลงลืมถึงขั้นภาวะสมองเสื่อมนั้น เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมองใหญ่โดยรวม มีผลให้เกิดความบกพร่องในการประกอบกิจวัตรประจำวันเกิดการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกและพฤติกรรม อาการผิดปกตินี้ควรเกิดขึ้นอย่างน้อย 6 เดือน แพทย์จึงจะวินิจฉัยว่าเกิดภาวะสมองเสื่อม

อาการของภาวะสมองเสื่อม ประกอบด้วย 
            ความจำบกพร่องหลง ๆ ลืม ๆ เรียกชื่อคนใกล้ชิดไม่ได้ จำเหตุการณ์ปัจจุบันหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นไม่ได้   ขาดสมาธิ  หงุดหงิดง่าย  พูดจาก้าวร้าวต่างไปจากเดิม หรือเฉยเมยไม่พูดจา ไม่ยอมทำอะไรเหมือนคนไร้วิญญาณ นั่งนิ่งเฉย ๆ หรือเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย  มีปัญหาเรื่องการพูด การเขียน เช่น พูดหรือถามซ้ำ ๆ ซาก ๆ เรียกชื่อคนหรือสิ่งของเพี้ยนไป เช่น ข่าว แทน ข้าว  ชาม แทน ช้อน  บวกเลขคิดเลขไม่ได้ ทอนเงินไม่ถูก  หลงทาง เดินออกจากบ้านแล้วหาทางกลับบ้านไม่ได้  การตัดสินใจเชื่องช้า ตัดสินใจไม่ได้หรือตัดสินใจผิดพลาด เพราะมีความเสื่อมของสมองส่วนหน้าซึ่งมีหน้าที่ควบคุมตนเองการวางแผน และการตัดสินใจ  ผู้ป่วยอาจมีบุคลิกเปลี่ยนไป  ลักษณะการเดินเปลี่ยนไปหรือเดินแล้วล้มง่ายขึ้น แขนขาอ่อนแรง ลืมว่าจะเดินก้าวเท้าอย่างไร 
            อาการดังกล่าวข้างต้นจะต้องรุนแรงและมีผลกระทบต่อการประกอบกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย คือ ความสามารถในการช่วยเหลือตนเองได้น้อยลง หรือต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ในการประกอบกิจกรรมบางอย่าง เช่น การรับประทานอาหาร  การลุกนั่ง เดิน ยืน  การอาบน้ำ  การถ่ายอุจจาระ  ปัสสาวะราด การแต่งตัว การจ่ายตลาด ทำกับข้าว  การขับรถ ขึ้นรถเมล์   ออกนอกบ้านไปหาเพื่อน ไปวัด  ทำงานบ้าน ซักผ้า รีดผ้า ทำความสะอาด อาการทั้งหมดที่กล่าวมา อาจเกิดค่อยเป็นค่อยไปหรือเกิดอย่างรวดเร็ว เห็นได้ชัดขึ้นกับภาวะสมองเสื่อม  อาการอาจมีหลงลืม ความจำไม่ดี หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ไม่จำเป็นต้องมีทุกอาการ คือต้องมีความจำไม่ดีร่วมกับอาการอื่น 3 อย่างขึ้นไปดังที่กล่าวมาข้างต้น และต้องพึ่งพาผู้อื่นในการทำกิจวัตรประจำวัน จึงจะวินิจฉัยได้ว่ามีภาวะสมองเสื่อม
            นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมคือ เป็นโรคหลอดเลือดสมอง เช่น เคยเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตมาก่อน  เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจหรือหัวใจเต้นผิดปกติ ผู้หญิงมีระดับฮอร์โมนเพศหญิงต่ำมานาน การสูบบุหรี่ ดื่มสุราหรือสิ่งเสพติด รวมทั้งมีญาติใกล้ชิดมีภาวะสมองเสื่อม จะสังเกตได้ว่าปัจจัยเสี่ยงบางอย่างสามารถปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลง เพื่อป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้
            เมื่อท่านใดมีอาการที่สงสัยว่าจะมีภาวะสมองเสื่อม ควรรีบนำไปพบแพทย์ เพราะภาวะสมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ  เพราะมีภาวะสมองเสื่อมที่เกิดที่รักษาได้ หรือป้องกันได้ก็มี ที่สำคัญแพทย์จะต้องตรวจหาว่าอาการเหล่านี้เกิดจากสาเหตุใด รักษาให้หายขาดได้หรือไม่ เช่น เกิดจากผลข้างเคียงของยาที่ใช้อยู่ เกิดจากภาวะซึมเศร้า เกิดจากการเสพสุราเรื้อรัง เกิดจากโรคติดเชื้อในสมองหรือเกิดจากการเห็น การได้ยินบกพร่อง เป็นต้น การได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการในระยะแรก ๆ เป็นหัวใจสำคัญอันหนึ่งของการรักษาผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมให้ได้ผลดีที่สุด และสิ่งที่สำคัญที่สุดนั่นคือ ญาติผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมต้องมีความเข้าใจในโรคและสาเหตุของภาวะสมองเสื่อม เข้าใจการดำเนินโรค จึงจะทำให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปโดยราบรื่น และสิ่งที่สำคัญที่สุดนั่นคือ ญาติผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมต้องมีความเข้าใจในโรคและสาเหตุของภาวะสมองเสื่อม เข้าใจการดำเนินโรค จึงจะทำให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปโดยราบรื่น

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด