โรคพาร์กินสันกับผู้สูงอายุ

โรคพาร์กินสัน กับผู้สูงอายุ

ศ.นพ.นิพนธ์ พวงวรินทร์
ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            ร่างกายคนเราเมื่อเข้าสู่วัยชราก็เป็นธรรมดาที่โรคภัยไข้เจ็บจะมาเยือนอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ซึ่งหนึ่งในจำนวนหลาย ๆ โรคที่เกิดได้แก่ "โรคพาร์กินสัน" ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลางที่จะส่งผลให้เกิดอาการสั่น เกร็ง และเคลื่อนไหวช้า

สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคพาร์กินสัน
           1. ความชราภาพของสมอง มีผลทำให้เซลล์สมองที่สร้างสารโดปามีน (เกิดจากกลุ่มเซลล์ประสาทที่มีสีดำที่อยู่บริเวณก้านสมอง โดยทำหน้าที่สำคัญในการสั่งร่างกายให้เคลื่อนไหว) มีจำนวนลดลง โดยมากพบในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ทั้งเพศชายและหญิง และจัดว่าเป็นกลุ่มที่ไม่มีสาเหตุจำเพาะแน่นอน นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มที่พบบ่อยที่สุด
           2. ยากล่อมประสาทหลัก หรือยานอนหลับที่ออกฤทธิ์กดหรือต้านการสร้างสารโดปามีน โดยมากพบในผู้ป่วยโรคทางจิตเวชที่ต้องได้รับยากลุ่มนี้เพื่อป้องกันการคลุ้มคลั่ง รวมถึงอาการอื่น ๆ ทางประสาท แต่ปัจจุบันยากลุ่มนี้ลดความนิยมในการใช้ลง แต่ปลอดภัยสูงกว่าและไม่มีผลต่อการเกิดโรคพาร์กินสัน
           3. ยาลดความดันโลหิตสูง ในอดีตมียาลดความดันโลหิตที่มีคุณสมบัติออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง จึงทำให้สมองลดการสร้างสารโดปามีน แต่ในระยะหลัง ๆ ยาควบคุมความดันโลหิตส่วนใหญ่จะมีฤทธิ์นอกระบบประสาทส่วนกลาง แต่มีผลทำให้ขยายหลอดเลือดส่วนปลาย จึงไม่ส่งต่อสมองที่จะทำให้เกิดโรคพาร์กินสันต่อไป
           4. หลอดเลือดในสมองอุดตัน ทำให้เซลล์สมองที่สร้างโดปามีนมีจำนวนน้อย หรือหมดไป
           5. สารพิษทำลายสมอง ได้แก่ สารแมงกานีสในโรงงานถ่านไฟฉาย พิษจากสารคาร์บอนมอนนอกไซด์
           6. สมองขาดออกซิเจน ในกรณีที่จมน้ำ ถูกบีบคอ เกิดการอุดตันในทางเดินหายใจจากเสมหะหรืออาหาร เป็นต้น
           7. ศีรษะถูกกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ หรือโรคเมาหมัดในนักมวย
           8. การอักเสบของสมอง
           9. โรคทางพันธุกรรม เช่น โรควิลสัน ซึ่งเกิดจากการที่มีอาการของโรคตับพิการร่วมกับโรคสมอง สาเหตุมาจากธาตุทองแดงไปเกาะในตับและสมองมากจนเป็นอันตรายขึ้นมา
           10. ยากลุ่มต้านแคลเซียมที่ใช้ในโรคหัวใจ โรคสมอง ยาแก้เวียนศีรษะ และยาแก้อาเจียนบางชนิด

การสังเกตอาการของโรคพาร์กินสัน
           โดยทั่วไป อาการจะแสดงออกมากน้อยแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ ด้าน เช่น อายุ ระยะเวลาการเป็นโรค และภาวะแทรกซ้อนที่ตามมา แต่โรคชนิดนี้จะมีอาการที่แสดงออกที่เห็นได้ชัดคือ
           1. อาการสั่น พบว่าเป็นอาการเริ่มต้นของโรคประมาณร้อยละ 60 - 70 ของผู้ป่วยจะมีอาการสั่น โดยเฉพาะเวลาที่อยู่นิ่ง ๆ จะมีอาการมากเป็นพิเศษ (4 - 8 ครั้ง / วินาที) แต่ถ้าเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมก็จะอาการสั่นลดลง หรือหายไป โดยมากพบอาการสั่นที่มือ และเท้า แต่บางครั้งอาจพบได้ที่คางหรือลิ้นก็ได้ แต่มักไม่พบที่ศีรษะ
           2. อาการเกร็ง ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะแขน ขา และลำตัว ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เคลื่อนไหวหรือทำงานหนักแต่อย่างใด
           3. เคลื่อนไหวช้า ผู้ป่วยจะขาดความกระฉับกระเฉง งุ่มง่าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเริ่มต้นเคลื่อนไหว บางรายอาจหกล้มจนเกิดอุบัติเหตุตามมาได้ เช่น สะโพกหัก หัวเข่าแตก เป็นต้น
           4. ท่าเดินผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีท่าเดินจำเพาะตัวที่ผิดจากโรคอื่น คือ ก้าวเดินสั้น ๆ แบบซอยเท้าในช่วงแรก ๆ และจะก้าวยาวขึ้นเรื่อย ๆ จนเร็วมากและหยุดไม่ได้ทันที โอกาสที่จะหกล้มหน้าคว่ำจึงมีสูง นอกจากนี้ยังเดินหลังค่อม ตัวงอ แขนไม่แกว่ง มือชิดแนบลำตัว หรือเดินแข็งทื่อเป็นหุ่นยนต์
           5. การแสดงสีหน้า ใบหน้าของผู้ป่วยจะเฉยเมยไม่มีอารมณ์เหมือนใส่หน้ากาก เวลาพูดมุมปากจะขยับเพียงเล็กน้อย
           6. เสียงพูด ผู้ป่วยจะพูดเสียงเครือ ๆ เบา ไม่ชัด หากพูดนาน ๆ ไป เสียงก็จะค่อย ๆ หายไปในลำคอ บางรายที่อาการไม่หนัก เมื่อพูดน้ำเสียงจะราบเรียบ รัว และระดับเสียงจะอยู่ระดับเดียวกันตลอด นอกจากนี้น้ำลายยังออกมาและมาสออยู่ที่มุมปากตลอดเวลา
           7. การเขียน ผู้ป่วยจะเขียนหนังสือลำบาก ตัวหนังสือจะค่อย ๆ เล็กลงจนอ่านไม่ออก ส่วนปัญหาด้านสายตา ผู้ป่วยจะไม่สามารถกลอกตาไปมาได้คล่องแคล่วอย่างปกติ เพราะลูกตาจะเคลื่อนไหวแบบกระตุกโดยส่วนมากผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะมีอาการแทรกซ้อน คือ ท้องผูกเป็นประจำ ท้อแท้ซึมเศร้า ปวดกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย

 

การรักษาโรคพาร์กินสันมี 3 วิธี คือ
          
1. รักษาด้วยยา ซึ่งแม้ว่ายาจะไม่สามารถทำให้เซลล์สมองที่ตายไปแล้วฟื้นตัวหรือกลับมางอกทดแทนเซลล์เดิมได้ แต่ก็จะทำให้สารเคมีโดปามีนในสมองมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของร่างกายได้ สำหรับยาที่ใช้ในปัจจุบัน คือ ยากลุ่ม LEVODOPA และยากลุ่ม DOPAMINE AGONIST เป็นหลัก (การใช้ยาแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยจากแพทย์ ตามความเหมาะสม)
           2. ทำกายภาพบำบัด จุดมุ่งหมายของการรักษาก็คือ ให้ผู้ป่วยกลับคืนสู่สภาพชีวิตที่ใกล้เคียงคนปกติที่สุด สามารถเข้าสังคมได้อย่างดี มีความสุขทั้งกายและใจ ซึ่งมีหลักวิธีปฏิบัติง่าย ๆ คือ
           ก) ฝึกการเดินให้ค่อย ๆ ก้าวขาแต่พอดี โดยเอาส้นเท้าลงเต็มฝ่าเท้า และแกว่งแขนไปด้วยขณะเดินเพื่อช่วยในการทรงตัวดี นอกจากนี้ควรหมั่นจัดท่าทางในอิริยาบถต่าง ๆ ให้ถูกสุขลักษณะ รองเท้าที่ใช้ควรเป็นแบบส้นเตี้ย และพื้นต้องไม่ทำมาจากยาง หรือวัสดุที่เหนียวติดพื้นง่าย
            ข) เมื่อถึงเวลานอน ไม่ควรให้นอนเตียงที่สูงเกินไป เวลาจะขึ้นเตียงต้องค่อย ๆ เอนตัวลงนอนตะแคงข้างโดยใช้ศอกยันก่อนยกเท้าขึ้นเตียง
            ค) ฝึกการพูด โดยญาติจะต้องให้ความเข้าอกเข้าใจค่อย ๆ ฝึกผู้ป่วย และควรทำในสถานที่ที่เงียบสงบ
           3. การผ่าตัด โดยมากจะได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย และมีอาการไม่มากนัก หรือในผู้ที่มีอาการแทรกซ้อนจากยาที่ใช้มาเป็นระยะเวลานาน ๆ เช่น อาการสั่นที่รุนแรง หรือมีการเคลื่อนไหวแขน ขา มากผิดปกติจากยา ปัจจุบันมีการใช้วิธีกระตุ้นไฟฟ้าที่สมองส่วนลึกโดยผ่าตัดฝังไว้ในร่างกาย พบว่ามีผลดี แต่ค่าใช้จ่ายสูงมาก ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน จำเป็นต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคนรอบข้างในการพัฒนาฟื้นฟูด้านร่างกาย รวมถึงจิตใจ ดังนั้นหากท่านมีคนใกล้ชิดที่เป็นโรคชนิดนี้ จึงควรรีบนำมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโรคอันจะนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป
 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด