โรคติดเชื้อระบบสืบพันธุ์น่ารู้: หิด

โรคติดเชื้อระบบสืบพันธุ์น่ารู้: หิด

อ.พญ.เจนจิต ฉายะจินดา
พยาบาลวิชาชีพ พเยาว์ อเนกลาภ
หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

            หิด เป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ขนาดเล็กกว่าหัวเข็มเย็บผ้า ชอบฝังตัวใต้ผิวหนังและวางไข่ อาการจะรุนแรงมากขึ้น ถ้ามีหิดอยู่รวมกันใต้ผิวหนังเป็นกลุ่ม ภาวะนี้พบในผู้ที่มีภูมิต้นทานต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้สูงอายุ
            การติดเชื้อหิด เกิดขึ้นได้ง่ายจากการอยู่ใกล้ชิดกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ เช่น การนอนอยู่บนเตียงเดียวกันเท่านั้น  อย่างไรก็ตาม การมีเพศสัมพันธ์ทำให้โอกาสติดเชื้อสูงขึ้น 

ข้อแตกต่างระหว่างหิดกับโลน
 
           1.ไม่สามารถมองเห็นตัวหิดได้ด้วยตาเปล่า ในขณะที่โลนมีขนาดใหญ่ถึง 2 มม.
            2. หิดสามารถอยู่นอกร่างกายได้นานถึง
72 ชั่วโมง ในขณะที่โลนอยู่ได้เพียง 24 ชั่วโมง  และ
            3. หิดอาศัยอยู่ใต้ผิวหนังเป็นหลัก ในขณะที่โลนอยู่บนผิวหนังและวางไข่บนขนหยาบ

ติดหิดมาได้อย่างไร
            การถ่ายทอดหิดจะคล้ายกับโลน คือไม่ได้เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น เพียงแค่อยู่ใกล้กันก็สามารถติดกันได้ สามารถตรวจพบหิดได้ที่อวัยวะเพศ มือ (โดยเฉพาะง่ามนิ้วมือ) ข้อมือ ข้อศอก หน้าท้อง เต้านม รอบหัวนม เท้า ข้อเท้า และบริเวณก้น  หิดสามารถมีชีวิตอยู่นอกร่างกายได้นานถึง 72 ชั่วโมง  ดังนั้น จึงสามารถถ่ายทอดสู่ผู้อื่นที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกันมากกว่าโลน

อาการและอาการแสดงของหิด
            บางคนไม่มีอาการอะไรเลย อาการมักเริ่มเกิดขึ้นหลังได้รับเชื้อหิดมาประมาณ 6 สัปดาห์ อาการในผู้หญิงและผู้ชายจะคล้ายกัน ได้แก่ อาการคันมาก โดยเฉพาะเวลากลางคืน หลังอาบน้ำอุ่น (ทั้งแช่น้ำอุ่นและฝักบัว) เพราะหิดชอบภาวะนี้และพยายามขุดเข้าไปใต้ผิวหนัง จึงทำให้เกิดอาการระคายเคือง และอุจจาระของหิดจะทำให้ร่างกายหลั่งสารอีสตามีนออกมาทำให้คันมาก อาการคันนี้ทำให้ผู้ติดเชื้อเกาอย่างรุนแรง  ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวจนเลือดออก เป็นแผลถลอกและอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้
            หิดตัวเล็กมาก ๆ จนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่สามารถมองเห็นเส้นสีเงินบนผิวหนัง เกิดจากรูที่หิดขุดใต้ผิวหนัง

หากสงสัยว่าติดเชื้อหิด
            ท่านควรเข้ามารับการตรวจที่หน่วยฯ โดยท่านจะได้รับการซักประวัติ ตรวจร่างกายและตรวจภายใน เนื่องจากพบร่วมกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้  บ่อยครั้งที่แพทย์ตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆ เพราะการวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจร่างกายเป็นหลัก ท่านอาจจะต้องกลับมาตรวจประเมินอีกครั้ง           หากแพทย์เห็นบริเวณผิวหนังที่สงสัยว่ามีหิด แพทย์จะทำการผ่าตัดชิ้นเล็ก ๆ บริเวณนั้น นำไปตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์ เพื่อช่วยในการวินิจฉัย
          ในกรณีที่ประวัติและอาการน่าสงสัยมากว่าท่านติดเชื้อหิด แต่การตรวจร่างกายไม่พบสิ่งผิดปกติเลย แพทย์อาจพิจารณาเริ่มการรักษาเลย

การรักษาหิด
            การรักษาค่อนข้างง่าย คล้ายกับการรักษาโลน โดยการใช้ครีมหรือโลชั่น ควรทาครีมหรือโลชั่นทั่วร่างกายตั้งแต่ระดับคอลงไป และควรทาทิ้งไว้ทั้งคืน หรือล้างออกหลังจากนั้น 12 ชั่วโมง เช่นเดียวกันกับโลน ท่านควรชักชุดเครื่องนอนทั้งหมด ผ้าเช็ดตัว โดยใช้น้ำที่มีอุณหภูมิอย่างน้อย 50 องศาเซลเซียส
            ทุกคนในบ้านควรได้รับการรักษาไปพร้อมๆ กัน ไม่เพียงแต่คู่นอนเท่านั้น ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ เพื่อกำจัดหิดไปอย่างเด็ดขาด ควรจะต้องทำความสะอาด ผ้าคลุมโซฟา หมอนอิง ผ้าคลุมโต๊ะ ร่วมด้วย

อาการต่างๆ จะหายไปเมื่อใด
            ยารักษามีประสิทธิภาพดีมาก  หลังการรักษา อาการคันอาจยังคงอยู่ไปอีก 3-4 สัปดาห์จากธรรมชาติของหิดที่ขุดรูใต้ผิวหนัง เมื่อมันตายจะทำให้ร่างกายหลั่งสารบางอย่างออกมาทำให้เกิดอาการคัน                      ท่านสามารถรับประทานยาแก้คันและทายาแก้คันได้

จะมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไร
            เมื่อท่านและคู่นอนได้รับการรักษา และติดตามจนหายแล้ว

หิดหายเองได้หรือไม่
            ไม่ได้

หิดมีผลต่อภาวะมีบุตรหรือไม่
         
ไม่

เมื่อเป็นหิดในช่วงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร
         
หากท่านกำลังตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ท่านควรแจ้งแพทย์ทราบ เพื่อเลือกยาที่เหมาะสม                การให้นมบุตรจะต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษยิ่งกว่าโลน เพราะเด็กสามารจะติดหิดตามร่างกายได้ง่าย ท่านควรห่อเด็กให้เรียบร้อยและทำความสะอาดหัวนมและเต้านมเป็นอย่างดีก่อนให้นมบุตร หากท่านเป็นหิดบริเวณเต้านมและหัวนม แนะนำให้ใช้การปั๊มน้ำนมออกมาให้บุตรในระหว่างการรักษา เมื่อรักษาครบสามารถให้น้ำนมมารดาจากเต้าได้ตามปกติ

หิด ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้หรือไม่
            ไม่

หากท่านมีข้อสงสัย หรือต้องการรับข้อมูลเพิ่มเติม
            กรุณาติดต่อ หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี
(คลินิก 309)  ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น3 โรงพยาบาลศิริราช   โทรศัพท์ 02-419-7377 , 02-419-4899 ในวันและเวลาราชการ      E-mail address: siriraj.309@hotmail.com หรือ siriraj.309@gmail.com

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด