โรคติดเชื้อระบบสืบพันธุ์น่ารู้: โรคติดเชื้อเอชไอวี

โรคติดเชื้อระบบสืบพันธุ์น่ารู้: โรคติดเชื้อเอชไอวี

อ.พญ.เจนจิต ฉายะจินดา
พยาบาลวิชาชีพ  ขวัญจิตร  เหล่าทอง
หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            เอชไอวี มีชื่อเต็มว่า  human immunodeficiency virus เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนี้  ในปัจจุบัน มียาต้านไวรัสที่สามารถช่วยทำให้ผู้ติดเชื้อ  มีอายุยืนยาวขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การถ่ายทอดการติดเชื้อนี้ เกิดได้ 3 ทางได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์ การรับเลือด และจากมารดาสู่ทารก

เอชไอวีคืออะไร
            เอชไอวีเป็นไวรัสชนิดหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ติดเชื้อมีภูมิต้านทานในร่างกายอ่อนแอลง เพิ่มโอกาสในการติดเชื้ออื่นๆ จนอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ “โรคเอดส์” เป็นการติดเชื้อเอชไอวีที่มีระดับภูมิต้านทานต่ำลงมาก มีลักษณะรอยโรคบางอย่างที่จำเพาะ เช่น การเป็นมะเร็งบางชนิด หรือการติดเชื้อที่รุนแรงบางอย่าง  ในปัจจุบันมีการใช้คำนี้ลดน้อยลง อาจเรียกว่าเป็น “การติดเชื้อเอชไอวีระยะท้าย” แทน

การถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี
            สามารถถ่ายทอดโดย 3 ทาง ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์ ทางเลือดและจากมารดาสู่ทารก พบว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย จะมีความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อมากที่สุด โดยผู้ชายที่ได้ขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศแล้ว จะมีโอกาสรับเชื้อน้อยกว่า
            สารคัดหลั่งที่ตรวจพบเชื้อเอชไอวี ได้แก่ เลือด น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด น้ำนม เป็นต้น จึงทำให้สามารถถ่ายทอดเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้หลากหลายทาง  โดยระดับการถ่ายทอดทางการมีเพศสัมพันธ์จะแตกต่างกันไปตามช่องทางของการมีเพศสัมพันธ์ โอกาสติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องปากจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อมีแผลหรือมีการอักเสบอยู่ในช่องปาก การหลั่งน้ำอสุจิในช่องปาก การมีเพศสัมพันธ์ภายหลังการแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟันจนมีเลือดออก เป็นต้น ภาวะอื่นๆ ที่เพิ่มโอกาสการติดเชื้อ ได้แก่ การมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นร่วมด้วย การใช้อุปกรณ์เสริมในการมีเพศสัมพันธ์
(sex toy) ร่วมกันกับผู้อื่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน  นอกจากนี้ มารดาสามารถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีสู่ทารกในขณะตั้งครรภ์ ระหว่างการคลอดและผ่านทางน้ำนม
            กิจกรรมต่อไปนี้ ไม่ทำให้ติดเชื้อเอชไอวี ได้แก่ กอด จูบ จาม ไอ อาบน้ำร่วมกัน หรือใช้ผ้าเช็ดตัวผืนเดียวกัน เข้าห้องน้ำเดียวกัน หรือแม้แต่การที่ยุงกัดผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีแล้วมากัดอีกคน

การมารับเลือด การปลูกถ่ายอวัยวะ หรือการรับน้ำเชื้ออสุจิบริจาคที่สถานบริการสาธารณสุข จะทำให้ติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่
         
ไม่ เพราะปัจจุบันมีการคัดกรองเชื้อเอชไอวีอย่างถี่ถ้วนหลายครั้ง โดยใช้วิธีการตรวจหลายวิธีร่วมกัน

อาการและอาการแสดงของการติดเชื้อเอชไอวีเป็นอย่างไร
            คนส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการไม่ชัดเจน ในช่วงแรกของการติดเชื้อ จะมีอาการคล้ายเป็นหวัด เป็นอยู่ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ได้แก่ ไข้ ผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ แผลในปากหรือในคอ ปวดเมื่อยตามตัว เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการเพิ่มจำนวนของไวรัสอย่างมาก ร่วมกับมีการทำลายภูมิต้านทานของร่างกาย ต่อมาอาการจะน้อยลง เนื่องจากร่างกายสามารถควบคุมการเพิ่มจำนวนของไวรัสได้ แต่ไม่สามารถกำจัดออกไปจากร่างกายจนหมด

จะทราบได้อย่างไรว่าติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่
            การวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจเลือดเป็นหลัก  ในปัจจุบัน มีการตรวจโดยขูดเซลล์หรือเก็บน้ำลายในช่องปากไปตรวจหาเชื้อหากท่านสงสัยภาวะติดเชื้อดังกล่าว ท่านควรเข้ามารับการตรวจที่หน่วยฯ และรับคำแนะนำในการดูแลตนเอง

หลังการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยง นานเท่าใดจึงควรเข้ามารับการตรวจ
         
การตรวจในปัจจุบัน สามารถตรวจพบการติดเชื้อได้เร็วที่สุดที่ระยะเวลา 2 สัปดาห์หลังการรับเชื้อ อย่างไรก็ตามการตรวจโดยวิธีต่างๆ จะมีความแม่นยำแตกต่างกัน โดยจะแม่นยำมากเมื่อมีปริมาณไวรัสมาก จึงยังคงแนะนำให้ตรวจทันทีที่มาที่หน่วยฯ และตรวจซ้ำที่ระยะเวลา 3 เดือน หากผลการตรวจครั้งแรก เป็นลบ

การตรวจหาเชื้อเอชไอวี มีหลักการอย่างไร
            ในการตรวจเลือดแต่ละครั้งท่านจะได้รับการปรึกษา ให้ข้อมูลอย่างเป็นระบบก่อนการตรวจเลือด ท่านมีสิทธิที่จะปฏิเสธการตรวจได้ อย่างไรก็ดี การตรวจทั้งหมดเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ตัวของท่านและครอบครัว หากมีข้อสงสัยท่านสามารถสอบถามได้อย่างเต็มที่ ผลการตรวจจะเป็นความลับ บุคลากรทางการแพทย์จะไม่สามารถแจ้งผลของท่านแก่ผู้อื่นได้ หากท่านไม่อนุญาต และท่านจะได้รับการปรึกษาแจ้งผลเลือดอย่างเป็นระบบไม่ว่าผลเลือดจะเป็นลบหรือบวกก็ตาม
            ในการตรวจวินิจฉัยว่าผลการตรวจเลือดเป็นบวกนั้นจะต้องตรวจด้วย 3 วิธีหลัก  การตรวจแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ การตรวจหาส่วนประกอบของไวรัส  และตรวจระดับภูมิต้านทานต่อไวรัสของร่างกาย  ในปัจจุบัน มีการตรวจโดยการใช้น้ำลายหรือการขูดบริเวณเหงือก แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย
            แนวทางการวินิจฉัยคือ หากเป็นผลบวกจาการตรวจครั้งแรก จะตรวจซ้ำด้วยอีก 2 วิธี  เมื่อผลเป็นบวกทั้ง 3 วิธี  จึงให้การวินิจฉัย  ถ้าผลการตรวจครั้งแรกเป็นลบอาจอยู่ในระยะแฝงคือมีเชื้อแต่ยังตรวจไม่พบควรนัดตรวจซ้ำที่ระยะเวลา
3 เดือนถัดไป โดยในระหว่างนี้จะต้องมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย  เช่น  งดเพศสัมพันธ์  หรือใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งอย่างเคร่งครัดเมื่อมีเพศสัมพันธ์

หลังการตรวจเลือดจะทราบผลได้เมื่อไหร่
            ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่ท่านไปรับการตรวจ โดยทั่วไปขั้นตอนทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายใน 2 สัปดาห์

ความแม่นยำของการตรวจ
            ความแม่นยำสูง อย่างไรก็ตาม ไม่มีการตรวจโรคใดที่แม่นยำ 100 %

หากผลการตรวจเป็นบวก ควรทำอย่างไรต่อไป
         
ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องการให้ทุกคนเข้าถึงบริการ  ได้รับการตรวจเลือดเพิ่มเติม ตรวจภูมิต้านทาน จำนวนเชื้อในกระแสเลือด และให้การดูแลรักษา ให้การปรึกษาในเรื่องสุขภาพ การรับยาต้านไวรัส การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยไม่รับเชื้อเพิ่ม การพาคู่มารับการการปรึกษา  และตรวจเลือดเพื่อเข้าสู่บริการร่วมกัน การอยู่ร่วมในสังคมอย่างปกติสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี  แจกถุงยางอนามัย การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ท่านควรติดต่อสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม

คำแนะนำสำหรับการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี
            วัคซีนป้องกันยังได้ผลไม่ดี ดังนั้นท่านจึงควรระมัดระวังตนเองไม่ให้รับเชื้อ สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คือ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน (ไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย) กับผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี
            ปัจจุบันมีการให้ยาก่อนการมีเพศสัมพันธ์ และหลังการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยมีการศึกษาในกลุ่มชายรักชาย พบว่าการให้ยาต้านไวรัสก่อนการมีเพศสัมพันธ์จะสามารถลดอุบัติการณ์การติดเชื้อใหม่ได้ถึงร้อยละ
40 สำหรับการยาป้องกันการติดเชื้อภายหลังการมีเพศสัมพันธ์ ควรจะต้องเริ่มยาภายใน 72 ชั่วโมงแรก และจะต้องรับประทานยาทั้งสิ้น  4 สัปดาห์ นอกจากนี้ ท่านจะต้องมารับการตรวจเลือดซ้ำอีกครั้งที่ระยะเวลา 3 เดือนถัดไป
            โอกาสถ่ายทอดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้น หากผู้ติดเชื้อนั้นมีปริมาณไวรัสในร่างกายสูงมาก และมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ร่วมด้วย

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าไม่ขอรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี
            ภายในระยะเวลา 10-15 ปี ท่านจะมีอาการแย่ลง จนอาจเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ท่านยังมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น จนเกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจครอบครัวและต่อประเทศชาติได้

จะทราบได้หรือไม่ว่าติดเชื้อเอชไอวีมานานเท่าใด
            บอกได้ยาก เนื่องจากเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด จะบอกได้เพียงกรณีที่เมื่อท่านมีอาการคล้ายเป็นหวัดในช่วงแรก และมีการตรวจเลือดเป็นลบในครั้งแรก แต่เป็นบวกในครั้งถัดมา

ควรแจ้งคู่นอนให้ทราบหรือไม่
            ควรอย่างยิ่ง โดยแนะนำให้คู่นอนทุกคนมารับการปรึกษา  และตรวจเลือด เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อต่อไปสู่ผู้บริสุทธิ์ในสังคม อย่างไรก็ตามการตัดสินใจนี้เป็นสิทธิของท่านที่จะเลือกทำหรือไม่ หากท่านไม่สามารถติดตามคู่นอนทุกคนได้เองหรือยังคงมีความรู้สึกคับข้องใจอยู่ ท่านควรมาขอรับคำปรึกษาแนะนำจากทางหน่วยฯ และให้ทางหน่วยฯ ช่วยประสานงานให้ การประสานงานนี้ ชื่อของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับ คู่นอนของท่านจะได้รับข้อมูล และขอความสมัครใจในการตรวจเลือดโดยไม่ทราบว่าทางหน่วยฯ ได้รับข้อมูลมาจากใคร

การติดเชื้อเอชไอวีมีผลต่อการมีบุตรหรือไม่
            โดยทั่วไปจะแนะนำให้ผู้ติดเชื้อใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หากท่านต้องการมีบุตรท่านควรจะต้องมีระดับไวรัสในร่างกายที่ต่ำมาก และไม่ควรมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ร่วมด้วย เพื่อลดโอกาสในการถ่ายทอดเชื้อสู่คู่นอนและทารก หากท่านต้องการมีบุตร ท่านสามารถรับคำปรึกษาจากแพทย์ถึงทางเลือกต่างๆ และโอกาสในการตั้งครรภ์

ในกรณีตั้งครรภ์และมีการติดเชื้อเอชไอวี
            ในปัจจุบัน มียาต้านไวรัส ที่สามารถลดการถ่ายทอดเชื้อลงได้จากร้อยละ 25 เป็นต่ำกว่าร้อยละ 2 ท่านควรรีบมาฝากครรภ์และรับยาต้านไวรัสที่เหมาะสม ร่วมกับการตรวจประเมินอื่นๆ เพื่อความปลอดภัยของทารกและตัวท่านเอง

ผลของการติดเชื้อเอชไอวีกับมะเร็งปากมดลูก
            พบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นมะเร็งปากมดลูกมากกว่าผู้ที่ไม่ติดเชื้อและมีการดำเนินโรคที่เร็วกว่าอีกด้วย จึงแนะนำให้มารับการตรวจมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ

หากท่านมีข้อสงสัย หรือต้องการรับข้อมูลเพิ่มเติม
            กรุณาติดต่อ หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี
(คลินิก 309) ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น3 โรงพยาบาลศิริราช โทรศัพท์ 02-419-7377 , 02-419-4899 ในวันและเวลาราชการ E-mail address: siriraj.309@hotmail.com หรือ siriraj.309@gmail.com

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด