วันนี้ของวิทยาการส่องกล้องเพื่อรักษารากฟัน

วันนี้ของวิทยาการส่องกล้องเพื่อรักษารากฟัน

ทพญ.ศศพินทุ์  เจณณวาสิน

งานทันตกรรม
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

            ในฟันแต่ละซี่ของคนเรามีส่วนที่เรียกว่า โพรงประสาทฟัน ในส่วนของตัวฟัน จะเชื่อมต่อกับคลองรากฟัน ที่อยู่ในส่วนของรากฟัน โพรงประสาทฟันและคลองรากฟันนี้ เป็นที่อยู่ของเนื้อเยื่อ เส้นเลือดฝอย และ เส้นประสาทขนาดเล็กจำนวนมาก ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ทำหน้าที่ในการคงความมีชีวิตของฟัน เสริมสร้างชั้นเนื้อฟัน และรับรู้สิ่งกระตุ้นต่าง ๆ เช่น แรงบดเคี้ยว หรือความรู้สึกร้อนเย็นที่ถูกส่งมาที่ฟัน

            เมื่อโครงรากฟันเกิดการอักเสบ หรือติดเชื้อขึ้นจากสาเหตุต่างๆ เช่นฟันผุ หรือฟันได้รับอุบัติเหตุ ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวดรุนแรง หรือติดเชื้อลุกลามไปถึงกระดูกรอบปลายรากฟัน จึงต้องได้รับการรักษาคลองรากฟัน ซึ่งก็คือ การกำจัดเอาเนื้อเยื่อส่วนที่อักเสบติดเชื้อออก แล้วอุดช่องว่างแทนที่โพรงประสาทนั้น ๆเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ ทั้งนี้ ความสำเร็จในการรักษารากฟันนั้นขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการกำจัดเนื้อเยื่อและเชื้อโรคที่อยู่ในโพรงประสาทและคลองรากฟัน

          การรักษารากฟันโดยทั่วไป มีขั้นตอน คือ การเจาะส่วนตัวฟันเพื่อเปิดช่องเข้าไปสู่โพรงประสาทและคลองรากฟัน กำจัดเนื้อเยื่อข้างในออกด้วยเครื่องมือขนาดเล็ก ร่วมกับการล้างด้วยน้ำยาทำความสะอาดและ ใส่ยากำจัดเชื้อ เมื่อแน่ใจว่าคลองรากฟันสะอาดครบหมดทุกรากแล้วจึงทำการอุดปิด

            ขั้นตอนดังกล่าวอาจฟังดูไม่ซับซ้อน แต่แท้จริงแล้วการรักษารากฟันมีความละเอียดอ่อนอย่างมาก เนื่องจากฟันส่วนใหญ่มีมากกว่าหนึ่งคลองราก รวมทั้งมีขนาดและรูปร่างที่ต่างกันไป ลองนึกถึงการทำความสะอาดและขยาย 4 คลองรากฟันในฟันซี่เล็ก ๆ ซี่เดียว ภายใต้ข้อจำกัดของพื้นที่ และ แสงสว่างในการมองเห็น

            ล่าสุด งานทันตกรรม รพ.ศิริราช ได้เริ่มนำกล้องผ่าตัดทางทันตกรรม (Dental operating microscope หรือ DOM) มาใช้ในการรักษารากฟัน ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการรักษาคลองรากฟัน ในการเพิ่มกำลังขยายและช่วยในการมองเห็น ทำให้การรักษารากฟันเป็นไปได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยทางงานทันตกรรม ได้นำกล้องผ่าตัดทางจักษุวิทยา มาทดลองใช้เป็นการนำร่องและเก็บข้อมูลจำนวนผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ DOM เป็นส่วนร่วมในการรักษา


ข้อดีการใช้กล้องDOM ทำการรักษารากฟัน

            - ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็น เนื่องจากมีกำลังขยายที่สูง

            - อำนวยความสะดวกในการหารูเปิดคลองรากฟัน โดยเฉพาะในกรณีที่โพรงประสาทฟันตีบแคบหรืออุดตัน การส่องหารอยร้าว หรือรอยทะลุในตัวฟัน และรอยโรค หรือความบกพร่องอื่นๆ ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

            - ช่วยให้ทันตแพทย์สามารถปรับตำแหน่งในการทำงานให้เหมาะสมกันสรีระได้มากขึ้น

ข้อจำกัด

- กล้อง DOM ยังมีราคาที่ค่อนข้างสูง

            - บุคลากรยังต้องผ่านการอบรมจึงจะสามารถใช้งานกล้อง DOM ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            ในปัจจุบัน งานรักษารากฟัน เป็นหนึ่งในส่วนการรักษาที่มีการพัฒนาปรับปรุงมากและบ่อยที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการคิดค้นวิทยาการทางการแพทย์ที่ใหม่กว่านี้ขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างวิทยาการอื่น ๆ ที่กำลังแพร่หลาย อาทิ การใช้เส้นใยแก้วนำแสงขนาดเล็กในการแสดงภาพภายในคลองรากฟัน การใช้ระบบเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติ (Cone Beam Computed Tomography หรือ CBCT) หรือ การพัฒนาระบบการทำความสะอาดคลองรากฟันแบบต่างๆ

 

            ถึงแม้วิทยาการทางการทางการแพทย์จะก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว แต่บุคลากรทางการแพทย์ย่อมมีหน้าที่ในการติดตามค้นคว้าศึกษาเพื่อนำมาใช้ตอบสนองความต้องการของผู้ป่วย เพื่อเพิ่มผลสำเร็จของการรักษาและนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี จุดมุ่งหมายหลักของการรักษารากฟันที่ยังคงเดิมไม่เปลี่ยน คือ การป้องกันและควบคุมการอักเสบของเพื่อเยื่อในโพรงประสาทฟัน ส่งเสริมสภาวะที่ดีของกระดูกรอบปลายราก เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถคงสภาพฟันธรรมชาติในช่องปากไว้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดค่ะ

 

เคล็ดลับดูแลรักษารากฟัน

            วิธีการดูแลรักษารากฟัน และคงความมีชีวิตของฟันนั้นไม่ต่างจากการดูแลฟันทั่วๆไป โดยมีหลักการง่ายๆดังนี้

            1.แปรงฟันอย่างถูกวิธีอย่างน้อยวันละสองครั้ง และใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน

            2.หมั่นพบทันตแพทย์เพื่อตรวจเช็คสุขภาพช่องปากทุก6 เดือน

            3.ไม่ใช้ฟันกัดของแข็ง  หรือเคี้ยวอาการแข็ง เช่น กระดองปู น้ำแข็ง เม็ดฝรั่ง หรือกระดูก เพื่อลดความเสี่ยงของการแตกร้าวของฟันที่อาจนำไปสู่การอักเสบของโพรงประสาท

            4.หากต้องเล่นกีฬาที่มีโอกาสเกิดการกระทบกระแทกบริเวณฟันได้ง่าย ควรใส่เครื่องมือป้องกันฟัน(Mouth guard) เพื่อลดโอกาสการเกิดฟันตายจากอุบัติเหตุ

            5. หมั่นสังเกตอาการต่างๆในช่องปากและฟัน  หากมีอาการเสียวฟันมาก ฟันแตกหัก หรือผุ มือาการเหงือบวมหรือมีตุ่มหนองเกิดขึ้น ให้รีบปรึกษาทันตแพทย์

 


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด