อัมพาตในผู้สูงอายุ
อัมพาตในผู้สูงอายุ
ผศ.นพ.รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ
ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ถาม. คำจำกัดความของคำว่า "โรคอัมพาต"
ตอบ. คำว่าอัมพาต ในภาษาชาวบ้าน ก็หมายถึง โรคหลอดเลือดสมองซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติในระบบประสาทอย่างฉับพลัน โดยความหมายทั่วไปก็จะหมายถึง แขนขาซีกใดซีกหนึ่งอ่อนแรงไปหรือเดินไม่ได้
ถาม. อัมพาต และอัมพฤกษ์ เป็นโรคชนิดเดี่ยวกันหรือไม่
ตอบ. อัมพาตมักจะเป็นมาก และอัมพฤกษ์จะเป็นน้อยกว่า ในภาษาแพทย์โรคหลอดเลือดสมองจะมีหลายแบบ ซึ่งพูดง่าย ๆ ก็คือ หลอดเลือดสมองอาจตีบหรืออุดตันหรืออาจจะแตก ซึ่งแต่ละชนิดจะทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทได้ ซึ่งบางทีอาการอาจคล้าย ๆ กัน
ถาม. อัมพาต มีกี่ลักษณะ
ตอบ. ก็จะเกิดขึ้นจากหลอดเลือดสมองที่ตีบ อุดตัน และแตก
ถาม. ลักษณะอาการที่ผิดปกติของผู้ป่วยเป็นอมพาตที่มีหลอดเลือดในสมองตีบ จะมีลักษณะอาการผิดปกติอย่างไร
ตอบ. ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีลักษณะแขนขาอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง และจะทำให้เดินไม่ได้ รู้สึกชา บางรายจะเดินเซ บางรายจะมีอาการปวดหัว อาเจียน หรือพูดจาสับสน โดยสรุป ก็คือ ลักษณะที่จะบ่งชี้ว่าจะเป็นอัมพาต ก็คือ อาการจะเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด ไม่ใช่ค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลานานเป็นชั่วโมง ไม่ใช่เป็นวันเป็นเดือน
ถาม. นอกจากนี้จะมีโรคอื่น ๆ นำมาก่อนหรือไม่
ตอบ. ก็มีโรคหลายโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของอัมพาต ยกตัวอย่างเช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือการสูบบุหรี่ อ้วนเกินไป การใช้ชีวิตที่ไม่ได้ออกกำลังกายเลย นั่งทำงานหรือนั่งโต๊ะอย่างเดียว
ถาม. ในปัจจุบันมีผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด และจะเกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้นหรือไม่
ตอบ. จริง ๆ โรคนี้เป็นได้ตั้งแต่วัยกลางคน ถ้ามองดูในคนอายุน้อยก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง เช่น เกิดจากโรคหัวใจบางชนิดที่มีเส้นเลือดหลุดไปอุดหลอดเลือดสมอง ก็เลยทำให้เกิดอัมพาต แต่พบส่วนน้อย ส่วนใหญ่ถ้ามองในแง่ของปัจจัยเสี่ยงที่ได้พูดไปข้างต้น จะเป็นโรคของคนวัยกลางคน และมักจะเป็นในผู้ชายได้เร็วกว่าในผู้หญิง ในผู้หญิงจะพบในผู้ที่มีอายุมากกว่าผู้ชาย
ถาม. ความแตกต่างของโรคที่เป็นเร็ว เป็นช้าของผู้หญิงหรือผู้ชายเกิดขึ้นจากอะไร
ตอบ. เข้าใจว่าจะเกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนที่เกี่ยวกับเพศ เช่น ฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตนเจน ที่มีผลต่อเรื่องไขมันในเลือด หรือโรคหลอดเลือดต่าง ๆ
ถาม. ความก้าวหน้าของวิธีการรักษาในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง
ตอบ. การรักษาของโรคเส้นเลือดสมองตีบ การรักษาในปัจจุบันก็คือ มีหลัก ต้องรับมารักษาให้เร็วที่สุด ดังนั้น เมื่อไหร่เริ่มมีอาการชวนให้สงสัยว่าจะเป็นอัมพฤกษ์, อัมพาต จะต้องรับมาโรงพยาบาล ถ้ามาได้เร็วได้เวลาเป็นชั่วโมงยิ่งดี ก็อาจจะมียาบางอย่างจะช่วยได้ ยกตัวอย่าง คือ ยาที่ละลายลิ่มเลือด การให้ยาแอสโพริน เพื่อป้องกันไม่ให้หลอดเลือดตีบมากขึ้น แล้วทำให้เกิดอาการมากขึ้น อันนี้มีการศึกษาชัดเจนว่า ยิ่งให้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี แต่ถ้าเป็นหลอดเลือดอุดตันบางครั้งก็จะต้องให้ยาละลายลิ่มเลือดเพื่อป้องกันไม่ให้มันเป็นซ้ำอีก แต่ถ้าหลอดเลือดแตก ก็จะเป็นการรักษาแบบประคับประคอง ดูอาการกันไป และต้องระวังไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา
ถาม. นอกจากนี้จะมีการรักษาวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วยอีกหรือไม่ กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง
ตอบ. คือหลังจากที่อาการของผู้ป่วยคงที่ไม่เป็นมากขึ้น เราก็เริ่มพิจารณาถึงการรักษา เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน เช่น การพลิกตัว การป้องกันโรค ปอดบวม โรคติดเชื้ออื่นๆ หรือการดูแลเรื่องดุลน้ำ ดุลเกลือแร่ในร่างกาย และหลังจากนั้น ก็จะพิจารณาเรื่อง การทำกายภาพบำบัดเพื่อการฟื้นฟูในคนไข้สภาพกลับมาดีขึ้น
ถาม. ขั้นตอนในการรักษาต้องใช้เวลามากน้อยแค่ไหน
ตอบ. แล้วแต่สถานการณ์ ก็คือ ถ้าเป็นบ่อยก็จะดีขึ้นเร็วอาจจะไม่จำเป็นต้องทำกายภาพบำบัดยาวนานมากนัก แต่ถ้าบางรายที่เป็นมากก็อาจจะจำเป็นต้องทำสักระยะหนึ่ง บางทีอาจจะเป็นเดือน ถ้าพูดถึงการรักษาระยาว ถ้าเมื่อไหร่ที่เป็นอัมพาตแล้วเรามักจะรักษาไปตลอดชีวิต เพราะว่ามันมี ความเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นอีกได้ ถ้าเคยเป็นมาหนหนึ่งแล้ว ก็อาจจะเป็นอีกได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเคยเป็นมาครั้งหนึ่งแล้ว ก็จะต้องรักษาต่อเนื่องไปตลอดชีวิต
ถาม. ก็หมายความว่า เราไม่สามารถจะไปรักษาอัมพาตให้หายขาดได้ใช่หรือไม่
ตอบ. ถ้าเส้นเลือดที่มันตีบไปแล้ว เราจะต้องรักษาเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่พูดไปข้างต้น ว่าป้องกันไม่ให้มันตีบมากขึ้น หรือว่าเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตซ้ำอีก
ถาม. โรคแทรกซ้อนอะไรบ้างที่มักพบว่าจะเกิดร่วมกับการเป็นอัมพาต
ตอบ. ในขณะที่เป็นอัมพฤกษ์, อัมพาต โรคแทรกซ้อนที่เจอบ่อย ๆ ก็คือ โรคติดเชื้อ คนไข้ที่นอนนาน ๆ ก็อาจจะมีโอกาสเป็นปอดบวม ปอดอักเสบ หรือติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ในขณะเดียวกันการที่นอนนาน ๆ ไม่ได้พลิกตัวอย่างถูกต้องก็จะมีโอกาสเกิดแผลกดทับ และมีการติดเชื้อตามมา
ถาม. วิธีการดูแลผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต ผู้ใกล้ชิดจะมีวิธีการดูแลอย่างไรบ้าง
ตอบ. ถ้าคนไข้ช่วยตัวเองได้น้อย ไม่สามารถจะลุกขึ้นมานั่งได้เอง เราก็คงจะต้องช่วยเหลือพอสมควร การช่วยเหลือก็ทำได้ตั้งแต่ การพลิกตัวทุก ๆ 2 ชั่วโมง ฝึกทำกายภาพบำบัดสำหรับญาติ ก็คือ ญาติจะต้องมาเรียนรู้วิธีการทำกายภาพบำบัดจากนักกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาล เพื่อนำกลับไปทำต่อที่บ้านได้ และจะต้องพยายามให้คนไข้ช่วยตนเองให้มากเท่าที่จะทำได้ สมมุติว่า พอจะกินข้าวเองได้ ใช้มือข้างที่ยังดีอยู่ช่วยตัวเองได้ ก็พยายามให้ทำ เพื่อให้คนไข้มีความมั่นใจตัวเองมากขึ้นด้วยว่า ผู้ป่วยยังมีความสามารถอยู่ ไม่ใช่หมดความสามารถแล้ว และเราก็เจอบ่อยว่าคนไข้ที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต จะมีโรคซึมเศร้าตามมาได้มาก เพราะฉะนั้นถ้าไม่ได้ช่วยตนเองได้ ญาติไม่ได้ดูแลใกล้ชิด ก็จะยังมีปัญหานี้ตามมา แทนที่จะฟื้นตัวได้ทั้ง ๆ ที่แข็งแรงขึ้นแล้ว แต่ทางใจไม่แข็งแรง ก็จะแย่ลง
ถาม. ผู้ป่วยที่ไดรับการรักษาอย่างถูกต้องจะสามารถปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ได้เหมือนเดิมหรือไม่
ตอบ. เรื่องของอัมพาต อัมพฤกษ์ นั้นมีหลายระดับ คนที่เป็นน้อยก็สามารถที่จะกลับมาเดินเป็นได้เหมือนเดิม ส่วนคนที่เป็นมาก อาจจะใช้มือข้างหนึ่งไม่ถนัด อย่างน้อยเป้าหมายของเราฝึกให้เขาใช้มืออีกข้างหนึ่งมาทดแทนได้ สมมุติว่าเป็นมือขวาอาจจะใช้มือซ้ายตักข้าวเข้าปาก ล้างหน้า แปรงฟันหรือทำกิจกรรมใด ๆ ของตัวเองได้ นั่นคือ เป้าหมายที่ต้องการ เราไม่สามารถทำให้แขนขาที่อ่อนแรงไปแล้ว กลับมาดีได้เหมือนเดิม 100% แต่อย่างน้อยเราก็จะพยายามให้ผู้ป่วยช่วยตนเอง ก็คือใช้สิ่งที่มีอยู่มาชดเชย
ถาม. อันตรายของโรคอัมพาตมีมากน้อยเพียงใด
ตอบ. ถ้าโรคอัมพาตหรือโรคหลอดเลือดสมองนั้น เกิดจากหลอดเลือดสมองแตก โอกาสที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตในช่วง 1 เดือนแรกจะมีสูง อาจจะถึง 40% ซึ่งเยอะมาก แต่ถ้าเป็นประเภทของหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน โอกาสที่จะเสียชีวิตก็จะน้อยลง แต่ความพิการก็จะมากขึ้น