: บริการของหน่วยงาน :
การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสี

การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสี

              การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่เกิดขึ้นระหว่างการรักษาและภายใน 2 สัปดาห์หลังสิ้นสุดการรักษานั้น ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังในระยะเฉียบพลัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังในระยะนี้ก่อให้เกิดความไม่สุขสบายแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ผู้ป่วยอาจต้องพักการฉาย

รังสีชั่วคราวจนกว่าแผลจะหาย ความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ

              ระยะที่ 1 อาการผิวหนังร้อนแดง (Erythema) จะเกิดขึ้นใน 24 ชั่วโมงแรกของการฉายรังสี โดยจะขึ้นอยู่กับปริมาณรังสี (Dose) ที่ได้รับ ส่วนมากจะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังเมื่อได้รับรังสีในปริมาณ 1,000 – 2,000 เซนติเกรย์ โดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะค่อยเป็นค่อยไป

              ระยะที่ 2 อาการผิวหนังคล้ำขึ้นจากการมีสารสีจับผิวหนัง (Hyperpigmentation) ผลของรังสีจะทำให้ผิวหนังเป็นสีคล้ำโดยเริ่มเกิดตรงบริเวณรูขุมขนก่อนเพราะเป็นส่วนที่ไวต่อรังสีมากกว่าส่วนอื่น ๆ จะเห็นเป็นจุดดำเล็ก ๆ กระจายตามรูขุมขน จากนั้นเมื่อได้รับปริมาณรังสีเพิ่มขึ้น ผิวหนังส่วนอื่นในบริเวณที่ฉายรังสีจะค่อย ๆ คล้ำขึ้นและอาจลอกเป็นสะเก็ดได้ จะเกิดขึ้นเมื่อผิวหนังได้รับปริมาณรังสีประมาณ 4,000 เซนติเกรย์ขึ้นไป

              ระยะที่ 3 อาการผิวหนังแห้งเป็นขุย และหลุดลอกเป็นสะเก็ดหรือแผ่นบาง ๆ (Dry Desquamation) การหลุดลอกของผิวหนังเป็นการเปลี่ยนแปลงของหนังกำพร้าชั้นนอกสุด (Stratum Corneum) ซึ่งเป็นชั้นที่ไม่มีการแบ่งตัว โดยเซลล์จะมีสีคล้ำก่อนที่จะหลุดลอกเป็นสะเก็ดออกมา ในกรณีที่ผู้ป่วยเกาหรือมีการเสียดสีของผิวหนัง จะทำให้เซลล์หลุดลอกมากขึ้นและอาจเกิดแผลได้ง่าย นอกจากนี้ต่อมเหงื่อและต่อมไขมันเมื่อได้รับรังสีจะทำให้ความสามารถในการผลิตเหงื่อและน้ำมันลดลงเรื่อย ๆ ทำให้ผิวหนังผิวหนังแห้งมากขึ้นและเกิดอาการคัน ถ้าผู้ป่วยเกาจะยิ่งทำให้ผิวหนังมีการหลุดลอกมากขึ้นและแตกเป็นแผลได้ง่าย ซึ่งจะพบเมื่อได้รับปริมาณรังสี 3,000 เซนติเกรย์ขึ้นไป

              ระยะที่ 4 ผิวหนังแตกเป็นแผล และมีน้ำเหลืองซึม (Moist Desquamation) เกิดเนื่องจากเซลล์ของผิวหนังและหลอดเลือดถูกทำลายมากขึ้น มักเกิดเมื่อได้รับปริมาณรังสีมากกว่า 4,000 เซนติเกรย์ ผิวหนังจะพองเป็นตุ่มใส ๆ ต่อมาแตกออกเป็นแผล มีน้ำเหลืองไหลซึมออกมา คล้ายแผลจากน้ำร้อนลวก ไฟไหม้ ผิวหนังจะบวมแดงและหลุดลอกมากขึ้น ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดแสบปวดร้อนร่วมด้วย ซึ่งถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังระดับนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องหยุดพักการฉายรังสีกลางคัน

update : 6/10/2552 14:06:42

  <<Back