ความสำเร็จของงานวิจัย พบสารสกัดจากเปลือกมังคุด ป้องกัน-รักษาอัลไซเมอร์

วันที่ 4 ตุลาคม 2565 ศาสตราจารย์ นายแพทย์วีรศักดิ์ เมืองไพศาล หัวหน้าสาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ได้เปิดเผยถึงความสำเร็จจากการมีส่วนทำให้ "มังคุด" ผลไม้ที่มีมูลค่าส่งออกในลำดับต้นๆ ของไทย ได้เพิ่มมูลค่า 

จากการค้นพบในห้องปฏิบัติการถึงคุณค่าของสารสกัด "แซนโทน" (xanthone derivatives) จากเปลือกมังคุด โดยวิธีมาตรฐานของการสกัดและผลิต พบว่ามีฤทธิ์ป้องกันการตายของเซลล์สมองจากสารชักนำ สามารถต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งเอนไซม์อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส (Acetylcholinesterase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาทที่ช่วยเรื่องความจำในหลอดทดลอง และทำให้สัตว์ทดลองมีความจำ และอารมณ์ที่ดีขึ้น และไม่เกิดพิษต่อร่างกาย ทำให้สามารถพัฒนาเป็นยา

โดยวิจัยในผู้ที่แข็งแรงดี และวิจัยต่อยอดเพื่อการป้องกันและรักษาภาวะสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ โดยวิธีวิจัยแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมแบบปกปิดสองทาง (double-blinded randomized controlled trial) ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จำนวน 108 ราย พบว่าสามารถต้านอนุมูลอิสระในผู้ป่วยและมีสัดส่วนของผู้ป่วยที่มีความจำดีขึ้น เมื่อเทียบกับยาหลอก 

งานวิจัยดังกล่าวเป็นความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข และตีพิมพ์ผลงานวิจัยแล้วในวารสารระดับนานาชาติ

ซึ่งจะเป็นนิมิตหมายอันดีต่ออนาคตของผู้ป่วยในกลุ่มผู้สูงวัยที่นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของประชากรโลกในยุคปัจจุบัน ที่อุบัติการณ์ภาวะสมองเสื่อมนับเป็นปัจจัยหลักจากการเสื่อมถอยของร่างกายตามวัยที่พ้นผ่าน

ที่ผ่านมา มังคุดเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยม จนได้รับการขนานนามว่าเป็น "ราชินีแห่งผลไม้ไทย" ด้วยรสชาติหอมหวานอมเปรี้ยวที่ครองใจคนทั่วโลก อีกทั้งเปลือกมังคุดที่เคยเป็นเพียงวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่ไร้ค่า ต่อมาได้รับการค้นพบว่าสารสกัดจากเปลือกมังคุดมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโรคช่วยสมานแผล และต้านอนุมูลอิสระ สามารถนำเอาไปแปรรูปทำเป็นเครื่องสำอาง และยาได้มากมายหลายขนานตั้งแต่เจลป้ายปาก ไปจนถึงวิจัยในการรักษาโรคมะเร็งซึ่งยังมีข้อมูลจำกัดในสัตว์ทดลอง

ทั้งนี้ศาสตราจารย์ นายแพทย์วีรศักดิ์ เมืองไพศาล ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า หากจะผลักดันงานวิจัยสารสกัดจากเปลือกมังคุดต้านสมองเสื่อมสู่เชิงพาณิชย์เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไปในวงกว้าง จำเป็นจะต้องผ่านการวิจัยในมนุษย์ ในจำนวนตัวอย่างที่มากพอจนสามารถรับรองถึงประสิทธิภาพของผลการวิจัยได้อย่างแท้จริง อีกทั้งยังต้องใช้เม็ดเงินลงทุนในปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่อไปอีกมากมายมหาศาล

 

ที่มา https://www.naewna.com/local/684389