ไข้หวัดใหญ่ระบาด ในช่วงต้นปี พ.ศ.2557

ไข้หวัดใหญ่ระบาด ในช่วงต้นปี พ.ศ.2557

 

อ.นพ.พีระวงษ์ วีรารักษ์
อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ

ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

        ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่มีการระบาดตลอดทั้งปีในประเทศไทย และก่อให้เกิดโรคได้ในทุกช่วงอายุ ถึงแม้ผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรงโรคหายได้เองและมีอัตราเสียชีวิตต่ำมาก (น้อยกว่า 0.1%) แต่ไข้หวัดใหญ่ก็สามารถก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงรวมถึงมีอัตราการเสียชีวิตที่มากขึ้นได้ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็กและทารก ผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวตามระบบต่างๆรวมทั้งผู้ที่มีภาวะอ้วนได้
สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย
      จากข้อมูลรายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง ๕๐๖ ของสำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรค จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับรายงานว่ามีอาการไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2557 จนถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2557 มีจำนวน 6,683 รายข้อมูลถึงวันที่ 1 มี.ค. 2557 พบผู้ป่วยเพิ่มอีก 4,070 รายในเวลา 2 สัปดาห์จากข้อมูลก่อนหน้า และล่าสุดข้อมูลถึงวันที่ 9 มี.ค. 2557 พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก 4,412 รายในเวลาเพียง 8 วันนับจากข้อมูลก่อนหน้า จะเห็นว่าภายในเวลาเพียง  2 ถึง 3 สัปดาห์นี้มีผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และกรุงเทพมหานครก็เป็นพื้นที่ที่ประชากรมีอัตราป่วยด้วยอาการของไข้หวัดใหญ่สูง ( >100 ถึง 200 รายต่อแสนประชากร )

การป้องกันไข้หวัดใหญ่ด้วยวัคซีน
      
การใช้วัคซีนที่ประกอบด้วยไวรัส 3 สายพันธุ์เป็นมาตรการหลักในการป้องกันไข้หวัดใหญ่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เป็นส่วนประกอบในวัคซีนจะมีการเปลี่ยนแปลงตามการคาดการณ์การระบาดในทุกปีโดยในปี พ.ศ. 2557 นี้องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สำหรับซีกโลกใต้ประกอบด้วยไวรัส 3 สายพันธุ์คือ
         
1. A/California/7/2009 (H1N1)pdm09-like virus
         
2. A/Texas/50/2012 (H3N2)-like virus
          3. B/Massachusetts/2/2012-like virus
         
ส่วนประกอบของไวรัสที่แตกต่างกันระหว่างวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สำหรับซีกโลกใต้และซีกโลกเหนือในปีพ.. 2557 และความแตกต่างจากวัคซีนของปีพ.. 2556 คือส่วนประกอบที่เป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่ A/Texas/50/2012 (H3N2)-like virusสำหรับซีกโลกใต้ซึ่งคุณสมบัติทางด้านแอนติเจนเหมือนกับไวรัสA/Victoria/361/2011 (H3N2)-like virus ในวัคซีนสำหรับซีกโลกเหนือแต่จะมีความเหมาะสมในกระบวนการผลิตวัคซีนจากไข่
         
ในอนาคตจะมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ประกอบด้วยเชื้อไวรัส4 สายพันธุ์เป็นQuadrivalent influenza vaccine โดยจะเพิ่มการป้องกันไข้หวัดใหญ่ B อีกหนึ่งสายพันธุ์เข้ามาด้วย

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีให้บริการในศิริราช
       
ในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข ผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะต้องจัดหาวัคซีนเอง โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีอยู่ในศิริราชมีทั้งชนิดที่ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนังซึ่งสามารถให้การตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่ดีเทียบเท่าการฉีดวัคซีนชนิดเข้ากล้ามหรือดีกว่าวัคซีนชนิดเข้ากล้ามโดยเฉพาะการใช้ในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนังจะมีอาการปวดในบริเวณที่ฉีดวัคซีนน้อยกว่าแต่จะมีอาการคันมากกว่าการฉีดวัคซีนชนิดเข้ากล้าม ท่านสามารปรึกษารวมทั้งรับบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนอื่นๆสำหรับผู้ใหญ่ได้ที่ห้องวัคซีน ตึกผู้ป่วยนอก ( OPD )ชั้น 4 ห้อง 433
หนังสืออ้างอิง
         1. ข้อมูลจากเวปไซต์ของสำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรค. Available at www.boe.moph.go.th [ Access on Mar18th 2014].
         2. WHO | Recommended composition of influenza virus vaccines for use in the 2014 southern hemisphere influenza season. Available at http://www.who.int/influenza/vaccines/virus/recommendations/2014_south/en/  [ Access on Mar 18th 2014].
         3. Kenney RT, Frech SA, Muenz LR, et al. Dose Sparing with Intradermal Injection of Influenza Vaccine. N Engl J Med 2004;351:2295-301.
         4. Arnou R, Icardi G, De Decker M, et al.Intradermal influenza vaccine for older adults: A randomized controlled multicenter phase III study. Vaccine 2009;27(52):7304-12.


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด