ประวัติภาควิชาวิสัญญีวิทยา(Department of Anesthesiology)
ภาควิชาวิสัญญีวิทยาเริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508
โดยแยกมาจากภาควิชาศัลยศาสตร์ โดยมีหัวหน้าภาควิชาตามลำดับดังนี้
2508 - 2525 ศ. พญ.คุณหญิง สลาด ทัพวงศ์ (Prof.Salard Thuppawongs)
2525 - 2532 ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี (Prof.Pradit Charoenthaitavee)
2532 - 2536 ศ.คลินิกเกียรติคุณ พญ.คุณหญิงสำอางค์ คุรุรัตน์พันธ์ (Prof.Samaung Khururattanapan)
2536 - 2543 ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ดิเรก จุลชาต (Prof.Direk Chulachata)
2543 - 2549 ศ.เกียรติคุณ นพ.ธารา ตริตระการ (Prof.Thara Tritrakarn)
2549 - 2553 ศ.พญ.อังกาบ ปราการรัตน์ (Prof.Ungkab Phakanrattana)
2553 - 2557 ศ.พญ.จริยา เลิศอรรฆยมณี (Prof.Jariya Lertakyamanee)
2557 - 2561 รศ.พญ. ศิริพร ปิติมานะอารี (Assoc.Prof.Siriporn Pitimana-aree)
2561 - 2565 ผศ.นพ. สมเกียรติ อรุณพฤกษากุล (Assist.Prof.Somkiat Aroonpruksakul)
2565 - ปัจจุบัน รศ.พญ. อรวรรณ พงศ์รวีวรรณ (Assoc. Prof. Orawan Pongraweewan)
เมื่อเริ่มก่อตั้งภาควิชาฯ มีคณาจารย์ทั้งสิ้น 10 ท่าน ปฏิบัติงานการให้บริการทางวิสัญญีเป็นส่วนใหญ่ จำนวนอาจารย์ไม่เพียงพอกับภาระงานบริการที่เพิ่มขึ้น จากภาวะการขาดแคลนวิสัญญีแพทย์ในช่วง พ.ศ. 2512-2515 ทำให้มีความจำเป็นต้องมีวิสัญญีพยาบาลเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระงานบริการ มีผลสืบเนื่องทำให้ภาควิชาฯ เริ่มมีพัฒนาการทางด้านการเรียนการสอนทั้งในระดับแพทย์ประจำบ้านและนักศึกษาแพทย์ ประกอบกับนโยบาย การส่งเสริมให้อาจารย์แพทย์ได้รับการศึกษาฝึกอบรม ทั้งระยะสั้นและระยะยาวในต่างประเทศ ทำให้ในปัจจุบันภาควิชาฯ สร้างผลงานทางวิชาการที่มีคุณค่าในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการวิจัย การแต่งตำรา จนเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป จากวิสัยทัศน์ของหัวหน้าภาควิชาฯ สืบเนื่องกันมาทุกคน ที่พยายามผลักดัน ให้สมาชิกภาควิชาฯ เข้าไปมีส่วนร่วมในภาระงานที่เพิ่มขยายขึ้นในทุกระดับ ทั้งในและนอกห้องผ่าตัด ทั้งในและนอกโรงพยาบาล รวมทั้งภาระกิจพิเศษต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยากติดต่อกันมาโดยตลอด จึงเป็นผลทำให้ภาควิชาฯ ได้ตำแหน่งอาจารย์และวิสัญญีพยาบาลเพิ่มขึ้นมากบ้าง น้อยบ้างมาโดยตลอด
ปัจจุบันภาควิชาวิสัญญีวิทยาบริหารด้วยหัวหน้าภาควิชาฯ รองหัวหน้าภาควิชาฯ คณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพการบริการภาควิชาฯ ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบหน่วยบริการต่างๆ และงานบริหารด้านอื่นๆ ของภาควิชาฯ จำนวนทั้งหมด 15 และ 19 คน โดยลำดับ หน่วยงานบริหารประกอบด้วย (แผนภูมิโครงสร้างการบริหารและบุคลากร)
1. สำนักงานภาควิชาฯ อยู่ที่บริเวณอาคารสยามินทร์ ชั้น 10 และ 11
1.1 งานธุรการ ได้แก่ เลขานุการภาค วิเทศสัมพันธ์ สารบรรณ บุคลากร ประกันสังคม สวัสดิการ การเงินและบัญชี สถานที่และการควบคุมลูกจ้าง
1.2 งานการศึกษา การจัดการเรียนการสอนและสนับสนุนการศึกษาในระดับต่างๆ ประกอบด้วยนักศึกษาแพทย์ปีที่ 6 ปีละ 240 คน แพทย์ประจำบ้าน ปีละ 45-55 คน โครงการอบรมวิสัญญีพยาบาล ปีละ 30 คน
1.3 งานพัสดุและงบประมาณ รับผิดชอบจัดทำงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง การซ่อมแซมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงการจัดซื้อออกซิเจนและไนตรัสออกไซด์ โดยมีคณะกรรมการพัสดุคุรุภัณฑ์กำกับการทำงานและวางแผนการจัดทำงบประมาณ
1.4 งานสถิติและข้อมูลเก็บบันทึกข้อมูลการให้บริการวิสัญญี
2. หน่วยเครื่องมื่อแพทย์ทางวิสัญญี ประกอบด้วยช่างเทคนิค จำนวน 6 คน รับผิดชอบดูแลอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทุกชนิดของภาควิชาวิสัญญีฯ ที่ใช้ในการให้ยาระงับความรู้สึก ทั้งในห้องผ่าตัดและหออภิบาล การเติม Liquid O2และบริการซ่อมหัวจ่ายออกซิเจนทั่วโรงพยาบาล
3. หน่วยจ่ายกลาง รับผิดชอบเบิกยาและวัสดุทางการแพทย์จากห้องยาเพื่อจัดแจกให้กับหน่วยบริการทุกแห่งทั้งในบริเวณห้องผ่าตัดทั้ง 3 ชั้น ของอาคารสยามินทร์และบริเวณอื่นๆ ที่ให้บริการ
4. หน่วยบริการวิสัญญีวิทยา แยกแยะตามหน่วยงานบริการที่ต้องการบริการทางวิสัญญีวิทยา โดยมีอาจารย์วิสัญญีแพทย์และวิสัญญีพยาบาล รับผิดชอบหมุนเวียนในระบบการให้บริการ ไม่ได้แบ่งจัดแบ่งสาขาวิชาเด็ดขาดชัดเจน อาจารย์อาวุโสปฏิบัติงานมานานกว่า 10 ปี สามารถเลือกปฏิบัติงานได้ใน 1-3 หน่วยบริการ อาจารย์ที่อาวุโสน้อยจะต้องหมุนเวียนไปทุกหน่วยบริการ ยกเว้นหน่วยบริการพิเศษ ได้แก่ หน่วยบริการการผ่าตัดหัวใจ กุมารศัลยศาสตร์ ศัลยกรรมระบบปัสสาวะ จิตเวช ทันตกรรม รังสีวิทยา การผ่าตัดหัวใจและทรวงอก ศัลยกรรมประสาท ศัลยกรรมอุบัติเหตุ บริการสูติ-นารีเวช ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ หน่วยระงับปวด เวชบำบัดวิกฤต งานบริการโสต นาสิก ลาริงซ์ และจักษุวิทยา