ขั้นตอนการทำงานวิจัย


     ระเบียบวิธีวิจัย Research Methodology

 


     เลือก/กำหนดปัญหาที่ต้องการศึกษา

 

การเลือก/กำหนดปัญหาที่ต้องการศึกษา
     การเลือกหรือกำหนดปัญหาเป็นการกำหนดขอบข่ายปัญหาที่ต้องการศึกษา และเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในการวิจัย การเลือกปัญหาเพื่อนำมาวิจัยต่อยอดนั้นต้องพิจารณาจากความรู้ ทัศนคติ ความสามารถของผู้วิจัย กลุ่มประชากรที่สามารถเข้าถึงได้ การเก็บรวบรวมข้อมูล รวมทั้งเงินทุน เวลาที่จะทำให้งานวิจัยสำเร็จ และยังอาจจะต้องมีแหล่งความรู้ที่จะเป็นส่วนเสริมให้งานวิจัยสำเร็จได้อย่างราบรื่น
     ข้อควรพิจารณาในการเลือกปัญหาที่จะนำมาใช้ในการศึกษา คือ
1. ต้องเป็นปัญหาที่มีความสำคัญ
2. เป็นปัญหาที่แสดงถึงที่มาและเหตุผลของการศึกษา การกำหนดปัญหาที่ดีจะเป็นกรอบแนวทางให้ผู้วิจัยสามารถกำหนดวัตถุประสงค์ได้อย่างเหมาะสม
3. มีข้อมูลที่เที่ยงตรงและมีข้อมูลสนับสนุน
4. เป็นกรอบในการศึกษาค้นคว้าทฤษฎี งานวิจัย
5. สามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่มีเหตุผล
6. สามารถกำหนดตัวแปรและสมมุติฐาน ซึ่งจะช่วยกำหนดรูปแบบและวิธีดำเนินการวิจัยได้

 


     ค้นหาและทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง

 

การค้นหาและทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง (ทฤษฎีและงานวิจัยที่ผ่านมา) เพื่อรวบรวมแนวคิด
     เป็นหนึ่งในขั้นตอนที่มีสำคัญที่สุด งานวิจัยจะออกมาอย่างไรขึ้นอยู่กับการค้นหาและทบทวนวรรณกรรมที่ดี ซึ่งผู้วิจัยต้องอาศัยทักษะในการค้นหาและอ่านศึกษาวิเคราะห์วิจารณ์ให้ละเอียดถี่ถ้วนจึงจะเกิดประโยชน์
     1. การค้นหาเอกสารและงานวิจัย (information seeking)
          แหล่งที่ต้องการค้นหา (Resource)
          - บุคคล
          - แหล่งข้อมูลที่เป็นเอกสาร
               i. แหล่งข้อมูลที่เป็นเอกสาร เช่นวารสาร ตำรา
               ii. แหล่งข้อมูลรวบรวมรายชื่อวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ เช่น index medicus, Science Citatiion Index
          - แหล่งข้อมูลที่อยู่ในรูป Electronics
          - ฐานข้อมูลวารสารวิชาการที่ได้รับการยอมรับ ในระดับนานาชาติ           
           http://gopublished1.blogspot.com/2015/06/blog-post_97.html?view=sideb
     วิธีค้นหา
          - Manual เช่น index
          - Computer / internet
               i. ฐานข้อมูล เช่น PubMed, Scopus, ISI, Goggle Scholar, TCI
               ii. ค้นได้จากห้องสมุด http://www.medlib.si.mahidol.ac.th/siriraj/index.php,                     
                    https://www.li.mahidol.ac.th/, หรือ Internet เช่น http://www.nlm.com
               iii. Software ที่ช่วยในการค้นหา เช่น EndNote, Procite, Zotero
               iv. คำสำคัญ (Keywords) เช่น epidural, propofol...
     2 การทบทวนวรรณกรรม
     การทบทวนวรรณกรรมต้องใช้ทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์วิจารณ์แตกต่างกับการอ่านเพื่อเอาใจความธรรมดา อีกทั้งยังต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก ฉะนั้นจึงผู้วิจัยมีความจำเป็นต้องฝึกฝนให้เกิดทักษะในการอ่านเชิงวิเคราะห์ วิจารณ์
     การอ่านเชิงวิเคราะห์วิจารณ์เป็นการอ่านที่มุ่งให้ได้เนื้อความจริง ๆ ทุกขั้นตอน มิใช่อ่านเพียงเพื่อรู้ผลจากวรรณกรรมและการวิจัยเท่านั้น แต่ต้องวิเคราะห์ที่มาที่ไป รายละเอียดทุกขั้นตอนของเรื่องที่อ่าน จึงต้องใช้เวลาค่อนข้างมากในการอ่านเชิงวิเคราะห์ ทบทวนกลับไปกลับมาหลายครั้ง เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องที่กำลังอ่าน โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นเนื้อเรื่องซึ่งมีผู้เรียบเรียงเขียนไว้หลายคน ผู้อ่านยิ่งต้องพยายามอ่าน-คิด-วิเคราะห์ข้อเขียนของผู้เรียบเรียงแต่ละคน
ซึ่งนับเป็นขั้นตอนแรกของการอ่านทบทวน จากนั้นจึงนำสรุปผลที่ได้จากการอ่าน-คิด-วิเคราะห์เหล่านั้นมาวิเคราะห์-เปรียบเทียบเพื่อหาข้อสรุปให้กับเรื่องเหล่านั้นด้วยตัวผู้อ่านเอง จากการกระทำดังกล่าวผู้อ่านก็จะได้เรียนรู้จากผลที่ได้จากการวิเคราะห์ เปรียบเทียบจากประเด็นที่แตกต่างหรือเหมือนกันของผู้เรียบเรียงแต่ละคนซึ่งนับเป็นขั้นตอนที่สอง ขั้นตอนสุดท้าย คือ ผู้วิจัยนำสิ่งที่ได้จากการวิเคราะห์-เปรียบเทียบมาสรุปเป็นแนวทางสำหรับการกำหนดประเด็นการวิจัยสำหรับผู้วิจัยเอง โดยจะเป็นการประยุกต์แนวคิด หรือสอดคล้องกับข้อเขียนของผู้เรียบเรียงคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเหตุผลและวัตถุประสงค์ของการวิจัย
     การอ่านทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยจะได้ประโยชน์น้อยมากถ้าปราศจากการอ่านเชิงวิเคราะห์-วิจารณ์-เปรียบเทียบ การอ่านทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่ดี จะช่วยให้ผู้อ่านได้แนวคิดครบทุกขั้นตอนของการทำวิจัย เริ่มตั้งแต่หัวข้อการวิจัย ปัญหาหรือคำถามของการวิจัย วัตถุประสงค์ของการทำวิจัย กรอบแนวคิดของการทำวิจัย ระเบียบวิธีการวิจัย การวิเคราะห์ผลการวิจัย การวิจารณ์ผลการทำวิจัย การเสนอแนะผลที่ได้จากการทำวิจัย การอ้างอิงเอกสารที่เกี่ยวข้อง และเทคนิคการนำเสนอผลการวิจัย รวมไปถึงแนวทางในการเผยแพร่ผลการทำวิจัย

 

 

     กำหนดวัตถุประสงค์ และสมมุติฐานของงานวิจัย

 

กำหนดวัตถุประสงค์และสมมุติฐานของงานวิจัย
     การกำหนดขอบข่ายปัญหาที่ต้องการศึกษาอย่างชัดเจนจะเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยให้ผู้วิจัยสามารถระบุข้อความที่เป็นวัตถุประสงค์ของการวิจัย (Statement of research objectives) ได้ชัดเจน วัตถุประสงค์ที่ดีจะต้องเป็นวัตถุประสงค์ที่สามารถวัดได้ สอดคล้องและตรงประเด็นกับเรื่องที่ต้องการหาคำตอบ ซึ่งจะสามารถบอกทิศทางของการวิจัยว่าจะดำเนินไปในลักษณะใด เพราะจะต้องมีการเชื่อมโยงระหว่างผลที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยในอดีตกับงานวิจัยเรื่องใหม่ที่กำลังจะทำ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าวัตถุประสงค์เป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างผลลัพธ์ต่าง ๆ ที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยไปสู่มิติของการค้นคว้าศึกษาวิจัยเรื่องใหม่ว่าสิ่งที่ต้องการค้นหาคำตอบคืออะไร
     ตัวอย่าง การกำหนดวัตถุประสงค์ของงานวิจัยเชิงทดลอง เช่น RCT, Quasi Experimental Research มักใช้กรอบของ PICO คือ
     P (Participant) หมายถึง กลุ่มตัวอย่างที่ต้องการศึกษา
     I (Intervention) หมายถึง สิ่ง/อุปกรณ์/เทคนิค/ยา/etc ที่ต้องการศึกษา
     C (Comparison) หมายถึง กลุ่มเปรียบเทียบที่กับ Intervention ที่เราต้องการศึกษา
     O (Outcome) หมายถึง ผลลัพธ์ที่ต้องการศึกษา โดยเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม intervention และ comparison ซึ่งควรเป็นสิ่งที่วัดได้ (measurable)
     สำหรับงานวิจัยเชิงพรรณนา เช่น Descriptive Cross Sectional Design หรือเชิงคุณภาพ (qualitative study) จะใช้กรอบของ PICo ดังนี้
     P (Participant) หมายถึง กลุ่มตัวอย่างที่ต้องการ
     I (Phenomenal of Interest) หมายถึง ปรากฏการณ์ที่เราต้องการค้นคว้า เช่น ภาวะโรคร่วมของผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น
     Co (Context) หมายถึง บริบทที่เราศึกษา เช่น บริบทของประเทศไทย บริบทของชุมชน บริบทของโรงพยาบาลรัฐบาล เป็นต้น
     วิธีการกำหนดวัตถุประสงค์ที่นิยมใช้ คือ การตั้งสมมุติฐานในการวิจัย ผู้วิจัยจะเขียนข้อความที่เป็นการคาดคะเนคำตอบของการวิจัยว่าจะเป็นไปในลักษณะใด โดยอาศัยหลักการและเหตุผลที่อาจได้จากประสบการณ์ของผู้วิจัยเองหรือจากการทบทวนวรรณกรรมที่ทำให้ผู้วิจัยสามารถอนุมาน (Deductive) ได้ว่าปัญหานั้นควรจะตอบอย่างไร สมมติฐานนี้ควรต้องมีความสอดคล้องและสมเหตุสมผลพอที่จะตรวจสอบได้ แต่อาจไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นจริงเสมอไป


     กำหนดกรอบแนวคิดและตั้งนิยามศัพท์

 

กำหนดกรอบแนวคิดและตั้งนิยามศัพท์
     กรอบแนวคิดในการวิจัย (Conceptual framework ) หมายถึง แนวคิดของผู้วิจัยที่แสดงทิศทางในการวิจัย ทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงเหตุ-ผลระหว่างตัวแปรต้นและตัวแปรตามที่ใช้ศึกษาในการวิจัยครั้งนั้น ๆ โดยมีที่มาจากการทบทวนวรรณกรรม แนวคิด ทฤษฎี ตลอดจนผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และวัตถุประสงค์ที่ถูกกำหนดขึ้น แล้วจึงนำมาเขียนเป็นแผนภาพเพื่อเชื่อมโยงและแสดงให้
5
เห็นถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรในงานวิจัย กรอบแนวคิดในการวิจัยที่ดีจะต้องสื่อและขยายความงานวิจัยได้อย่างชัดเจน เป็นแผนภาพที่ผู้อ่านสามารถอธิบายได้ถึงความเกี่ยวพันระหว่างตัวแปรต่าง ๆ สามารถสรุปสาระสำคัญของแนวคิดในการวิจัยทั้งหมด และนำเสนอให้ผู้อ่านเข้าใจในระยะเวลาอันสั้นได้
     ประโยชน์ของกรอบความคิดในการวิจัย
     1. ช่วยชี้ให้เห็นทิศทางของการวิจัยและประเภทของตัวแปรต้นตัวแปรตาม
     2. ช่วยชี้ความสัมพันธ์ของตัวแปรต้นและตัวแปรตาม
     3. บอกแนวทางในการออกแบบการวิจัย
     4. บอกแนวทางการกำหนดวัตถุประสงค์และสมมติฐานการวิจัย
     5. บอกแนวทางการเลือกใช้เครื่องมือในการวิจัย
     6. บอกแนวทางการเลือกใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล
     7. บอกกรอบการแปรผลและอภิปรายผลการวิจัย
     คำนิยามศัพท์ หลักการให้คำนิยามตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยทุกตัวเป็นการให้คำนิยามเชิงปฏิบัติการที่ใช้ในการวิจัยเรื่องนั้น ๆ ทั้งนี้เนื่องจากคำศัพท์บางคำมีความหมายได้หลากหลาย ผู้วิจัยต้องระบุนิยามความหมายหรือคำจำกัดความที่จะใช้ในการวิจัยครั้งนี้เท่านั้น และสามารถสังเกตหรือวัดได้ ทุกคนสามารถสังเกต รับรู้ และเข้าใจได้ตรงกัน วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจตรงกันกับผู้วิจัย
     การระบุนิยามความหมายหรือคำจำกัดความต้องทำอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ค้านกับแนวคิดหรือทฤษฎีที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ มีความหมายที่ชัดเจน สามารถวัดได้อย่างเชื่อมั่น (Reliable) และเที่ยงตรง (Validate) การให้คำนิยามศัพท์ มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ
1. เพื่อให้เกิดความคงที่ของตัวแปรที่ศึกษา ตลอดระยะเวลาของการวิจัย
2. เพื่อนำไปสู่การสร้างเครื่องมือวัดและวิธีการวัดตัวแปรนั้น ๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม



     กำหนดรูปแบบการวิจัย

 

กำหนดรูปแบบการวิจัย
     ต้องกำหนดให้เหมาะสมกับปัญหาของการวิจัยและวัตถุประสงค์ของการวิจัย ประกอบด้วยการวางรูปแบบของการวิจัย ประชากร กลุ่มตัวอย่าง ขนาดตัวอย่าง การสุ่มตัวอย่าง การสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย การทดสอบเครื่องมือ และการใช้สถิติเพื่อพิสูจน์เรื่องที่ต้องการหาคำตอบ ในทุกขั้นตอนของระเบียบวิธีวิจัยจะต้องมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกันตลอด และเชื่อมโยงไปถึงลักษณะของการเขียนกรอบแนวคิดในการทำวิจัยด้วย
     งานวิจัย สามารถแบ่งออกได้เป็นประเภทตามคุณลักษณะของงานวิจัย การจัดประเภทเป็นไปตามการจัดจำแนกตามเกณฑ์ต่าง ๆ
1. พิจารณาจากระเบียบการวิจัย ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
     1.1. วิจัยเชิงประวัติศาสตร์ (Historical research) เป็นการศึกษาหาข้อเท็จจริงที่ในอดีต เพื่อใช้ความรู้มาอธิบายเหตุการณ์ในปัจจุบัน และทำนายอนาคต
     1.2. วิจัยเชิงพรรณนา (Description research) เป็นการศึกษาเพื่อบรรยายปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
     1.3. วิจัยเชิงทดลอง (Experimental research) เป็นการศึกษาตัวแปร เพื่อทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดผล
2. พิจารณาจากลักษณะของข้อมูล ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
     2.1. เชิงปริมาณ (Quantitative research) เป็นการใช้ข้อมูลทางสถิติ
     2.2. เชิงคุณภาพ (Qualitative research) เป็นการใช้ข้อมูลเชิงคุณลักษณะ การเก็บข้อมูลทำโดยการสังเกต สัมภาษณ์ บันทึก วิเคราะห์โดยการพรรณนาและสรุปเป็นความคิดเห็นเป็นส่วนใหญ่ อาจมีการใช้สถิติเข้ามาช่วยบ้าง เช่น บรรยายในเชิงร้อยละ เป็นต้น ส่วนใหญ่ในงานศิลปกรรมจะใช้การวิจัยลักษณะนี้
3. พิจารณาจากระดับของการศึกษาตัวแปร แบ่งออกได้เป็น
     3.1. การวิจัยเพื่อการสำรวจ (Exploratory study) เป็นการวิจัยเพื่อสำรวจตัวแปร และปรากฎการณ์ของตัวแปร เพื่อนำผลมาอธิบายการเกิดขึ้นของปรากฎการณ์นั้น ๆ ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
          3.1.1. การวิจัยเพื่อตรวจสอบตัวแปร (Identified variable)
          3.1.2. การวิจัยเพื่อหาความสัมพันธ์ของตัวแปร (Relationship between variables)
     3.2. การวิจัยเพื่อตรวจสอบสมมุติฐาน (Hypothesis testing study) เป็นการศึกษาเพื่อสร้างทฤษฎี เพื่อที่จะนำไปใช้ในการทำนาย การวิจัยชนิดนี้มีทางตั้งสมมุติฐาน และตรวจสอบดูว่าสมมุติฐานที่ตั้งขึ้นว่าถูกต้องหรือไม่
4. พิจารณาจากชนิดของข้อมูล แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
     4.1. เชิงประจักษ์ (Empirical research) เป็นการวิจัยที่หาความจริงจากข้อมูลปฐมภูมิ โดยมีการเก็บข้อมูล และใช้สถิติในการวิเคราะห์
     4.2. เชิงไม่ประจักษ์ (Nonempirical research) เป็นการวิจัยที่หาความรู้ความจริงจากข้อมูลเอกสาร และวรรณกรรม ไม่การใช้สถิติมาวิเคราะห์
5. พิจารณาจากลักษณะการศึกษาตัวแปร แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
     5.1. เชิงสำรวจ (Survey Research) เช่น การสำรวจทัศนคติ เพื่อหาข้อเท็จจริง
5.2. การศึกษาย้อนหลังในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว (Expose factor research) เป็นการศึกษาหาความสัมพันธ์ของตัวแปร จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ก่อน ส่วนใหญ่ใช้ในการศึกษา เช่น การศึกษาว่าเด็กสอบตกเกิดจากเหตุใด หรือมีบุคลิกภาพต่างกันอย่างไร
     5.3. เชิงทดลอง (Experimental research) เป็นการศึกษาตัวแปร โดยการควบคุม โดยมุ่งวิจัย และสังเกตผลที่เกิดขึ้น
การวิจัยเชิงพรรณนา หรือเชิงบรรยาย (Descriptive Research)
     การวิจัยเชิงบรรยาย เป็นการวิจัยที่มุ่งศึกษาข้อเท็จจริง เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ทราบว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ในการวิจัยประเภทนี้มีตั้งแต่การสำรวจว่า มีตัวแปรอะไรบ้าง สัมพันธ์อย่างไร ไปจนถึงการหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลของตัวแปร
     ลักษณะสำคัญของการวิจัยเชิงบรรยาย
     การวิจัยเชิงบรรยายเป็นการหาเงื่อนไข และความสำคัญที่เกิดขึ้นในการปฎิบัติความเชื่อ ความคิดเห็นทัศนคติ ผลที่มองเห็นตลอดจนแนวโน้ม เพื่อจุดประสงค์ที่จะบรรยาย และแปลความถึงลักษณะ ระดับของเงื่อนไข ความสัมพันธ์ การวิจัยชนิดนี้ต้องมีการสำรวจ สืบค้น เกี่ยวกับตัวแปร และมาหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผล มิใช่เพียงแต่นำข้อมูลมารวบรวมนำเสนอเท่านั้น ต้องมีพรรณนา หรือบรรยายนี้ ผู้วิจัยจะต้องศึกษาสิ่งต่าง ๆ หรือปรากฎการณ์ต่าง ๆ โดยมิได้แตะต้อง หรือควบคุมตัวแปร และสภาพแวดล้อมเลย โดยอาศัยการสังเกต บันทึก รวบรวม และวิเคราะห์ จากนั้นจึงสรุปให้เป็นผลการวิจัย ในศิลปกรรมศาสตร์นั้น ใช้วิธีการนี้ในงานวิจัยมาก ดังนั้น ความมุ่งหมายของการวิจัยเชิงบรรยายรายดังต่อไปนี้
     1. เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร
     2. เพื่อนำข้อมูลไปตีความอธิบาย ประเมินผล และเปรียบเทียบ
     3. เพื่อหาแนวโน้มของเหตุการณ์ในปัจจุบัน
     4. เพื่อสร้างเกณฑ์มาตรฐานของสิ่งที่ได้ศึกษา เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการเปรียบเทียบ และเป็นแนวทางในการแสวงหาความรู้ต่อไป
     5. เพื่อทราบหลักเหตุผล และการปฎิบัติ ตลอดจนปัญหาในปัจจุบัน เพื่อปรับปรุง
     ข้อมูลของการวิจัยเชิงบรรยาย แบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ
     1. ข้อมูลปริมาณ (Quantitative Data) คือ ข้อมูลที่เป็นตัวเลข หรือใช้สถิติ
     2. ข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative Data) คือ ข้อมูลที่ไม่ใช้ตัวเลข หรือสถิติเป็นข้อมูลที่ได้จากการสังเกตการสัมภาษณ์ การค้นคว้าเอกสาร แต่ข้อมูลประเภทนี้มักขาดความเที่ยงตรง ดังนั้นผู้วิจัยจะต้องมีความละเอียด ในการอธิบายขั้นตอนของการเก็บข้อมูล และการวิเคราะห์อย่างมาก โดยใช้เหตุผล อีกทั้งยังจะต้องเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีที่เหมาะสม และจะต้องใช้กลุ่มตัวอย่าง ขนาดเหมาะสม เพื่อใช้เป็นตัวแทนได้ดีที่สุด เพื่อให้ผลวิจัยที่มีความเชื่อถือได้มากที่สุด
     ชนิดของการวิจัยเชิงบรรยาย แบ่งออกได้เป็น 4 ชนิดใหญ่ ๆ คือ
     1. การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey research)
     เป็นการวิจัยที่ไม่มีการสร้างสถานการณ์เชื่อมโยงใด ๆ กับข้อมูลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเป็นการค้นหาความจริงตามสภาพการณ์ปัจจุบัน ที่ปรากฏอยู่หรือให้เห็นว่ามีข้อเท็จจริง อย่างไรที่ปรากฏอยู่มีความสัมพันธ์กันอย่างไร โดยไม่มีการจัดกระทำเพื่อควบคุมตัวแปรใด ๆ รูปแบบการวิจัยแบบสำรวจจำแนกได้ดังนี้ การสำรวจเชิงบรรยาย การสำรวจเชิงเปรียบเทียบ การสำรวจเชิงสหสัมพันธ์ การสำรวจเชิงสาเหตุ
     การออกแบบการวิจัยในการวิจัยเชิงสำรวจที่สำคัญคือ
          - ออกแบบการเลือกตัวอย่าง
          - ออกแบบการวัดค่าตัวแปร
          - ออกแบบการวิเคราะห์ข้อมูล
     2. การวิจัยเชิงความสัมพันธ์ (Interrelationship research)
     การวิจัยเชิงความสัมพันธ์ เป็นการวิจัยที่มุ่งศึกษาความสัมพันธ์ ของตัวแปรของปรากฎการณ์ และพฤติกรรมต่าง ๆ แบ่งออกไปด้เป็น
          2.1 กรณีศึกษา (Case Study) เป็นการศึกษาอย่างละเอียดลึกซึ้งเกี่ยวกับเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะ เพื่อต้องการทราบรายละเอียดของทุกแง่มุมในเรื่องที่ต้องการศึกษานั้น ๆ เป็นการศึกษาเฉพาะกรณี มิได้มุ่งในเรื่องปริมาณ เป็นการศึกษาเพื่อทราบรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ
          2.2 ศึกษาเปรียบเทียบผลเพื่อสืบหาเหตุ (Cusual Comparative Studies) เป็นการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรของปรากฎการณ์ต่าง ๆ โดยการสังเกตุผลของปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร แล้วย้อนกลับไปดูว่า ผลที่เกิดจะมีความสัมพันธ์กับตัวแปรที่เป็นเหตุอะไรได้บ้าง การวิจัยลักษณะนี้ผู้วิจัยไม่สามารถควบคุมตัวแปรที่ไม่ต้องการศึกษาได้ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Expost Facto Research
          2.3 ศึกษาเชิงสหสัมพันธ์ (Correlation Studies) เป็นการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของตัวแปร 2 ตัวขึ้นไป เพื่อดูว่าตัวแปรเหล่านั้นมีการผันแปรคล้อยตามกัน หรือผันแปรตรงกันข้ามกัน คือ ศึกษาสหสัมพันธ์นั้นเอง ส่วนใหญ่จะใช้สถิติเข้ามาช่วยในการวิจัยประเภทนี้
          2.4 ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างวัฒนธรรม (Cross Cultural Studies) เป็นการศึกษาเปรียบเทียบปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เพื่อประโยชน์ในการนำสิ่งนั้น ๆ ไปใช้ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในแต่ละวัฒนธรรม การวิจัยประเภทนี้ต้องการข้อมูลจากการศึกษาจากหลายลักษณะ โดยการสำรวจศึกษาทางกรณี การสังเกต แล้วจึงมาสรุปผลว่าสามารถสืบอ้างไปสู่กลุ่มที่มีวัฒนธรรมอื่น ๆ ได้หรือไม่ หรือใช้ได้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น
     3. การวิจัยเชิงพัฒนา (Developmental Studies)
     เป็นการวิจัยที่ดูความก้าวหน้าของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในช่วงของสภาพที่เกิดขึ้น ความสัมพันธ์ของปรากฎการณ์ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระหว่างช่วงเวลา เช่น การศึกษาความเจริญงอกงามความก้าวหน้าต่าง ๆ หรือการศึกษากลุ่มเป็นระยะเวลายาว (Longitudinal Studies) และการศึกษาแนวโน้ม (Trend Studies) ซึ่งเป็นการศึกษาถึงรูปแบบ และทิศทางของความเปลี่ยนแปลง เพื่อการพยากรณ์ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นการวิจัยที่มุ่งเน้นที่จะนำผลการวิจัยมาเพื่อปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เพิ่มคุณภาพ ประสิทธิภาพ การทำงานปกติในองค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ มีการนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกัน ทำให้ทราบอัตรา และทิศทางการเปลี่ยนแปลง แล้วจึงพยากรณ์สภาพ หรือเหตุการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
     4. แบบการวิจัยเชิงประเมิน (Evaluation research)
     เป็นรูปแบบการวิจัยชนิดหนึ่ง เหมือนการวิจัยเชิงสำรวจ แต่การวิจัยเชิงประเมินผล เป็นวิธีการวิจัยที่มุ่งหาความรู้+ความจริงมาหาคุณค่า ของสิ่งที่วิจัยนั้นเพื่อให้ผู้บริหารคิดสนใจว่าความยุติโครงการหรือให้ดำเนินการต่อไป ในการวิจัยเชิงประเมินผลนั้น สามารถดำเนินการประเมินได้ใน 3 ระดับ ได้แก่ ก่อนการดำเนินงาน ระหว่างดำเนินงาน และสิ้นสุดโครงการ
กระบวนการและขั้นตอนการทำวิจัยเชิงประเมินผล
     ขั้นที่ 1 เลือกโครงการและตั้งหัวข้อวิจัย
     ขั้นที่ 2 ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
     ขั้นที่ 3 กำหนดปัญหา เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการประเมิน
     ขั้นที่ 4 ออกแบบวิจัย วางแผนวิจัยประเมิน
     ขั้นที่ 5 เก็บรวบรวมข้อมูล
     ขั้นที่ 6 วิเคราะห์ข้อมูลและแปรผล
     ขั้นที่ 7 การเสนอรายงานวิจัยเชิงประเมินผล
     การนำทฤษฎีมากำหนดกรอบแนวคิดในการวิจัยเชิงประเมินผล ในการวิจัยเชิงประเมินโครงการนั้น ทฤษฎีที่นิยม นำมาใช้มากที่สุด คือทฤษฎี CIPP Model ของ STUFFLEBEANC หรือ CIPPO Model ของ นายธเนศ ต่วนชะเอม
     C = Contexts บริบท ได้แก่ สภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม ปัญหาของพื้นที่ ความต้องการและความพร้อมของประชาชน
     I = Input คือ โครงการ นั้นคือ เมื่อประเมินบริบทว่ามีความพร้อมและต้องการแล้วจึงนำโครงการสู่ชุมชน แล้วจึงประเมินโครงการนั้นว่ามีความเป็นได้มากน้อยเพียงใด เป้าหมายเป็นอย่างไร
     P= Process คือกระบวนการในการดำเนินงานตามโครงการที่กำหนดไว้ นั้นคือ นัก วิจัยเชิงประเมินให้ทำการประเมินในหัวข้อต่อไปนี้ หลักการ/การวางแผน, กิจกรรมและวิธีการขั้นตอนการดำเนินงาน, การร่วมมือ, วัสดุอุปกรณ์, งบประมาณ
     P= Product คือผลผลิต เช่น จำนวนคน, เป้าหมายที่กำหนดไว้, ผลที่ได้รับ, มีนวัตกรรมใหม่ ๆ
     O= Outcome คือ ผลลัพธ์ที่ตามมาจากโครงการนั้น เช่น ความสบายใจ, ความคุ้มค่า, การขยายเครือข่าย, ผลประโยชน์ที่ตามมาในภายหลัง ซึ่งอาจมีทั้งผลบวกและผลลบ
ข้อมูลเพิ่มเติม
1. Research Methods - Introduction
2. Study design
3. Qualitative vs Quantitative study designs
4. Cohort vs Case control studies
5. Randomized control trials and confounding

 


     กำหนดประชากรและวิธีการสุ่มตัวอย่าง

 

กำหนดประชากร และวิธีการสุ่มตัวอย่าง
     ประชากร หมายถึง จำนวนทั้งหมดของกลุ่มบุคคลหรือสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในขอบข่ายการวิจัย
     ตัวอย่าง หมายถึง ประชากรบางส่วนหรือทั้งหมดที่ใช้เป็นตัวแทนในการศึกษาวิจัย
วิธีการเลือกตัวอย่าง แบ่งออกเป็น 2 วิธี
     1. การเลือกตัวอย่างแบบไม่อาศัยความน่าจะเป็น เป็นการเลือกตามความสะดวกหรือเหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น การเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง การเลือกตัวอย่างแบบกำหนดโควต้า การเลือกตัวอย่างตามโอกาส การเลือกตัวอย่างตามสะดวก
การที่เลือกตัวอย่างโดยไม่ทราบค่าความน่าจะเป็นนี้ไม่เหมาะสมที่จะใช้การคำนวณค่าสถิติอนุมาน ในการวิเคราะห์ข้อมูล เพราะไม่ทราบค่า Sampling error จึงเหมาะสมที่จะใช้กับสถิติบรรยายต่าง ๆ
     2. การเลือกตัวอย่างแบบทราบค่าความน่าจะเป็นการเลือกโดยการสุ่ม (Random) ที่แต่ละหน่วยของประชากรมีโอกาสได้รับการเลือกตัวอย่างเท่าเทียมกัน การเลือกตัวอย่างแบบนี้แบ่งออกเป็น 5 วิธี คือ
          2.1 การเลือกตัวอย่างโดยการสุ่ม เป็นวิธีการที่ง่าย ๆ แต่ประชากรต้องไม่ใหญ่มากนัก
          2.2 การเลือกตัวอย่างเป็นระบบ เป็นวิธีใช้ได้ดีในกรณีที่ประชากรมีขนาดใหญ่ที่มีการจัดระบบอย่างใดอย่างหนึ่ง
          2.3 การเลือกตัวอย่างแบบการจัดชั้น เป็นวิธีการเลือกตัวอย่างที่มีการจัดขั้นก่อน เพื่อให้ตัวอย่างที่ได้มาจากทุกชั้น
          2.4 การเลือกตัวอย่างแบบกลุ่ม เป็นวิธีการเลือกตัวอย่างที่มีการแบ่งประชากรออกเป็นกลุ่ม เช่นเดียวกับการจัดชั้นแต่ลักษณะจะไม่เหมือนกัน โดยการแบ่งแบบนี้ลักษณะภายในของประชากรแต่ละกลุ่มจะมีความแตกต่างกัน และแต่ละกลุ่มจะมีความคล้ายคลึงกัน แล้วจึงเลือกโดยการสุ่มจากกลุ่มเล็ก ๆ โดยใช้ทุกหน่วยของกลุ่มย่อยมาเป็นตัวอย่าง
          2.5 การเลือกตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน จะใช้เมื่อประชากรที่ศึกษามีขนาดใหญ่ ประกอบด้วยกลุ่มย่อย ๆ โดยในกลุ่มย่อย ๆ ประกอบด้วยหน่วยต่าง ๆ ที่มีลักษณะตามที่สนใจคล้าย ๆ กัน


     สร้างเครื่องมือเพื่อใช้ในการเก็บข้อมูล

 

สร้างเครื่องมือเพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ
     การวิจัยเชิงปริมาณ (quantitative research) มักใช้เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต แบบทดสอบ มาตรวัด แบบบันทึก แบบรายการประเด็นที่ใช้ในการสนทนากลุ่ม
1. แบบสอบถาม (questionnaire): ข้อเท็จจริง ความรู้สึกความคิดเห็น
     - mailed questionnaire
     - internet questionnaire
     ข้อดี ประหยัดเวลาและงบประมาณ ผู้ตอบมีอิสระในการตอบ
     ข้อจำกัด ผู้ตอบไม่ให้ความร่วมมือ ไม่จริงใจในการตอบ
2. แบบสัมภาษณ์ (interviews)
     - structured/unstructured interviews
     - group/individual interviews
     - In-depth or intensive interviews
     ข้อดี ใช้ได้กับทุกคน อธิบายคำถาม สอบถามรายละเอียดเจาะลึก
     ข้อจำกัด เสียเวลาและค่าใช้จ่ายสูง คุณภาพข้อมูลขึ้นกับความสามารถของผู้สัมภาษณ์
3. แบบสังเกต (observation) เหมาะกับข้อมูลที่เป็นสิ่งมีชีวิต คน/สัตว์/ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ
     - known/unknown observation
     - participant/non-participant observation
     - direct/indirect observation
     ข้อดี ข้อมูลปฐมภูมิ มีรายละเอียดครบ ไม่มีปัญหาเรื่องปกปิดข้อมูล
     ข้อจำกัด เสียเวลา/ค่าใช้จ่ายมาก ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวสูงของนักวิจัย การตรวจสอบความตรงของข้อมูลทาได้ยาก
4. แบบทดสอบ (tests) เหมาะกับการวัดคุณลักษณะแฝง เช่น ความถนัด เชาวน์ปัญญา ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
     -individual/group tests
     -oral/written tests
     ข้อดี สามารถวัดคุณลักษณะแฝงได้ วัดได้อย่างมีคุณภาพ
     ข้อจำกัด วิธีสร้างค่อนข้างยุ่งยาก ผู้สร้างต้องมีความรู้
5. แบบวัดหรือมาตรวัด (scales) เหมาะกับการวัดคุณลักษณะทางจิตวิทยา เช่น เจตคติ บุคลิกภาพ ความสนใจ ความเชื่อ ค่านิยม เป็นต้น
     ข้อดี การเก็บข้อมูลไม่เข้มงวดเหมือนแบบสอบ สร้างง่ายกว่าข้อสอบ
     ข้อจำกัด ต้องรู้ทฤษฎีทางด้านจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับมาตรวัดที่จะสร้าง
6. แบบบันทึกข้อมูลจากเอกสาร/หลักฐาน ใช้ในการวิจัยประวัติศาสตร์ การวิจัยเอกสาร เหมาะกับข้อมูลที่มีการบันทึกไว้เป็นเอกสาร / มีหลักฐาน
     ข้อดี ไม่มีปัญหาเรื่องความร่วมมือ เสียค่าใช้จ่ายน้อย
     ข้อจำกัด ต้องใช้ความสามารถในการหาความหมายข้อเท็จจริงที่แฝงในเอกสาร ข้อมูลไม่เป็นปัจจุบัน ข้อมูลขาดความตรง
7. แบบรายการประเด็นการสนทนากลุ่ม (focus group discussion) ใช้ในการวิจัยสังคมศาสตร์และทางธุรกิจ เหมาะในการหาข้อสรุปความคิดเห็นของผู้รู้
     ข้อดี ประหยัดเวลาและงบประมาณ
     ข้อจำกัด ทำได้บางเรื่อง บางเรื่องซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของ สังคมอาจจะไม่ได้รับการเปิดเผย

 

ลักษณะของเครื่องมือวิจัยที่ดี
     1. คำถามสั้น กระชับ ง่ายและได้ใจความ
     2. หนึ่งข้อคำถามควรถามประเด็นเดียว
     3. คำถามต้องยั่วยุให้อยากตอบ
     4. ต้องไม่เป็นคำถามนาหรือชี้แนะคำตอบ
     5. มีความเป็นปรนัยสูง
     6. คำถามต้องคำนึงถึงวัย ระดับการศึกษา ความสามารถ ประสบการณ์ของผู้ตอบ
     7. มีการเรียงลาดับข้อคำถามให้เหมาะสม
     8. เครื่องมือต้องไม่ยาวเกินไป
     9. มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย คาชี้แจง วิธีในการตอบและมีตัวอย่างการตอบ
     10. มีการทดลองใช้ ปรับปรุงข้อบกพร่อง
     11. มีการหาคุณภาพของแบบสอบถามด้านความเที่ยงและความตรง


เทคนิคการสร้างเครื่องมือในการวิจัย
     1. การตอบคำถามวิจัย ต้องใช้สถิติตัวใด
     2. เครื่องมือที่จะสร้าง
          - มีเครื่องมืออยู่แล้ว
          - ปรับปรุงจากเครื่องมือที่มีอยู่แล้ว
          - รวบรวมมาจากหลายแหล่ง
          - สร้างใหม่
     3. การควบคุมการเดา
     4. ตัวแปรไม่ชัด ต้องใช้ qualitative นำ


การสร้างเครื่องมือในการวิจัย
     1. กำหนดขอบเขตและจุดมุ่งหมายของการสร้าง: วัดอะไร วัดใคร ลักษณะของผู้ถูกวัดเป็นอย่างไร
     2. ระบุเนื้อหา/ตัวแปรที่ต้องการวัด
     3. ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับตัวแปรที่ต้องการจะวัด
     4. นิยามปฏิบัติการ (operational definition) ตัวแปรที่ต้องการวัด
     5. ในกรณีที่ไม่สามารถนิยามตัวแปรให้ชัดเจน ให้เก็บข้อมูลภาคสนาม เพื่อนามาสร้างข้อคำถาม เช่น การรักความเป็นไทย
     6. สร้างตารางโครงสร้างเนื้อหา แจกแจงเนื้อหาที่จะวัดตามนิยามปฏิบัติการของตัวแปรที่จะวัด
     7. เลือกชนิดและรูปแบบคำถาม: เติมคาตอบ เลือกตอบ rating scale (สถิติที่ใช้ในการวิจัย)
     8. สร้างข้อคำถาม ให้ครอบคลุมเนื้อหาตามตารางโครงสร้างการนิยามตัวแปร (Definition of Variable)


     ขอรับคำปรึกษางานวิจัย หน่วยระบาดวิทยาคลินิก

 

ขอรับคำปรึกษางานวิจัย หน่วยระบาดวิทยาคลินิก
(https://www.si.mahidol.ac.th/th/department/research/ceu/consult/index.asp)



     ขอพิจารณารับรองจริยธรรมการวิจัยในคน SIRB


     Clinical trial registration

 

 

(https://register.clinicaltrials.gov/prs/app/template/Home)

 

 

      http://www.thaiclinicaltrials.org/

 

 





     การนำเสนอรายงานการวิจัย

 

การนำเสนอรายงานการวิจัย จะเรียงลำดับ ดังนี้
1 บทนำ

     - ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
     - วัตถุประสงค์การวิจัย
     - ขอบเขตการวิจัย
     - ข้อตกลงเบื้องต้น
     - ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย
2. วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
     - ทฤษฎี แนวคิด และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
     - กรอบแนวคิด
     - สมมุติฐานการวิจัย
     - นิยามศัพท์เฉพาะ
3. วิธีดำเนินการวิจัย
     - รูปแบบการวิจัย
     - ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
     - เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
     - การเก็บรวบรวมข้อมูล
     - การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้
4. ผลการวิเคราะห์ข้อมูล (เสนอตามวัตถุประสงค์และสมมุติฐาน)
5. สรุป อภิปรายผล ข้อเสนอแนะ
     - สรุปผลการวิจัย
     - อภิปรายผล
     - ข้อเสนอแนะ( ต่อหน่วยงาน เพื่อการวิจัยครั้งต่อไป)

 


     การเขียน manuscript

 

 

 

ติดต่อเรา
  • Address:
    Department of Anesthesiology
    Faculty of  Medicine Siriraj Hospital, Mahidol University

    ภาควิชาวิสัญญีวิทยา
    คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
    เลขที่ 2 อาคารสยามินทร์ ชั้น 11
    ถนนวังหลัง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย
    กรุงเทพมหานคร 10700
  • Phone: 02-419-7990
  • Fax: 02-411-3256
  • ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์ Email:
    fontip.sae@mahidol.ac.th