27 มกราคม 2552
ต้อนรับผู้ได้รับพระราชทาน
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี 51
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการ
พระราชสมภพ 1 มกราคม 2535 โดยการดำเนินงานของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา ซึ่งมีผู้ที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2551 ดังนี้
สาขาการแพทย์ ศาสตราจารย์นายแพทย์ แซจิโอ เอ็นริเก้ เฟเรย์ร่า (Professor Sergio Henrique Ferreira) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์เมืองริเบเรา เปรโต มหาวิทยาลัยเซาเปาโล ประเทศบราซิล
ศาสตราจารย์นายแพทย์ เฟเรย์ร่า เป็นผู้ค้นพบโปรตีนเปปไทด์จากพิษงูชนิดหนึ่งของประเทศบราซิล ซึ่งมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตได้ นำไปสู่การศึกษาพัฒนายาในกลุ่ม ACEI ซึ่งยาตัวแรกคือ Captopril ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่ามีประสิทธิภาพในการ
ลดความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเบาหวานที่มีความดันโลหิตสูงร่วมกับความเสื่อมของไต สามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้มาก
สาขาการสาธารณสุข ศาสตราจารย์นายแพทย์มิชิอากิ ทากาฮาชิ (Professor Michiaki Takahashi) ศาสตราจารย์เกียรติคุณและประธานกรรมการ มูลนิธิวิจัยโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น
ศาสตราจารย์นายแพทย์ทากาฮาชิ ได้ศึกษาค้นคว้าวิจัยจนสามารถแยกเชื้อไวรัสจากโลหิตของเด็กชายอายุ 3 ขวบได้ ตั้งชื่อว่า
สายพันธ์โอกะ (Oka) ตามชื่อของเด็กชายนั้น นำไปผ่านขบวนการขยายพันธุ์ในเซลล์เพาะเลี้ยง เพื่อให้อ่อนแรงลง แต่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันป้องกันไข้สุกใสได้ดี ได้มาตรฐานชีววัตถุตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก เป็นที่ยอมรับและถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก เช่นประเทศญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส รวมทั้งประเทศไทยด้วย ช่วยให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนนี้ เมื่อป่วยเป็นไข้สุกใส จะไม่ค่อยมีไข้ ไม่ค่อยเกิดแผลเป็น และหายป่วยเร็วกว่า นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กที่ได้รับวัคซีนนี้ เมื่อมีอายุมากขึ้นจะมีอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคงูสวัดน้อยกว่าเด็กที่เป็นไข้สุกใสตามธรรมชาติ ในผู้ใหญ่อายุมากกว่า 60 ปี วัคซีนนี้สามารถป้องกันการเกิดโรคงูสวัด ลดอาการแทรกซ้อนและป้องกันการลุกลามของโรคได้ จึงมีความเป็นไปได้ที่วัคซีนนี้จะถูกนำมาใช้ป้องกันโรคงูสวัดในคนสูงอายุด้วย
สาขาการสาธารณสุข ศาสตราจารย์นายแพทย์หยู หย่งซิน (Professor Yu Yongxin) ผู้อำนวยการเกียรติคุณ แผนกวัคซีนไวรัส สถาบันควบคุมชีวเภสัชภัณฑ์แห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน
ศาสตราจารย์นายแพทย์หยู หย่งซิน ใช้เวลากว่าสามทศวรรษในการศึกษาค้นคว้าและพัฒนาวัคซีนไข้สมองอักเสบ (Japanese Encephalitis vaccine) สายพันธุ์ SA 14-14-2 โดยผลิตจากเซลล์ไตของหนูแฮมสเตอร์ นำมาทดสอบในสัตว์ทดลองก่อนนำไปใช้ในคน พบว่ามีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และมีความปลอดภัยสูงในการป้องกันโรคไข้สมองอักเสบในเด็กได้ ทางการสาธารณรัฐประชาชนจีนจึงได้นำวัคซีนไข้สมองอักเสบฉีดให้เด็กมากกว่า 200 ล้านคน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 เป็นต้นมา และได้แพร่ขยายไปยังประเทศอินเดีย เกาหลี ศรีลังกา และเนปาล รวมทั้งประเทศไทยด้วยอีกหลายสิบล้านคน ทำให้การแพร่ระบาดของโรคนี้ในทวีปเอเชียลดลงได้มาก
โดยผู้รับรางวัลจะได้รับประกาศนียบัตร เหรียญรางวัล และเงินรางวัลมูลค่า 50,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งพิธีมอบรางวัลฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยรางวัลดังกล่าวถือเป็นรางวัลระดับโลก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นผู้ริเริ่มเพื่อเฉลิมฉลองเกียรติในวโรกาสครบรอบ
100 ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระบรมราชชนก คณะฯ ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ เชิญผู้รับพระราชทานรางวัลฯ มาเยือนและแสดงปาฐกถาเกียรติยศในผลงานที่ได้รับในวันอังคารที่ 27 มกราคม 2552 ณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยมีกำหนดการ ดังนี้
09.30 น. - ผู้ได้รับรางวัลฯ เดินทางมาถึงโรงพยาบาลศิริราช โดยรถยนต์หลวง
- ผู้บริหารทางคณะฯ ให้การต้อนรับ ณ บริเวณหน้าตึกอำนวยการ
- ถวายบังคมพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
- เยี่ยมชมห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ตึกสยามินทร์ ชั้น 2
- ร่วมพบปะสื่อมวลชน ณ ห้องจุฬาภรณ์ ตึกสยามินทร์ ชั้น 2
13.30 น. - ขอเชิญฟังปาฐกถา โดยผู้ได้รับรางวัลฯ ห้องอทิตยาทรกิติคุณ ชั้น 2